svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

นายกเมืองพัทยา หนุนนโยบายรัฐบาล จัดงาน "มหาสงกรานต์ 2567" ดัน Soft Power

13 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายกเมืองพัทยา ประกาศหนุนนโยบายรัฐบาล จัดงาน "เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567" ดัน Soft Power ระบุ เมืองพัทยา จับมือ วธ. จัดงานสงกรานต์และวันไหลพัทยา 18-20 เม.ย. สุดยิ่งใหญ่อัดแน่นไปด้วยวัฒนธรรมและความบันเทิง พร้อมแย้มความพิเศษในงาน

13 มีนาคม 2567 หลังจากที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้มอบประกาศนียบัตร (Certificate) รับรองประกาศขึ้นทะเบียน "สงกรานต์ในประเทศไทย" ประเพณีสงกรานต์เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษย์ชาติอย่างเป็นทางการ 

ทั้งนี้ รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมเดินหน้ายกระดับประเพณีสงกรานต์ของไทย โดยคงเนื้อหาในการเผยแพร่สาระคุณค่า สร้างการรับรู้ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง และให้ตระหนักถึงความสำคัญตามขนบประเพณีของชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ โดยเตรียมจัดงานมหาสงกรานต์ "World Songkran Festival ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก" ดำเนินงานผ่านเครือข่ายวัฒนธรรม 76 จังหวัดทั่วประเทศ และ 50 เขตในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1 - 21 เมษายน 2567 นี้ นั้น 

นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา
ด้าน นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา กล่าวถึงแนวทางการเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลที่จะเดินหน้ายกระดับประเพณีสงกรานต์ของไทย หลังได้รับรองประกาศขึ้นทะเบียน "สงกรานต์ในประเทศไทย" ประเพณีสงกรานต์เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษย์ชาติ ว่า เมืองพัทยาพร้อมผลักดันนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาเมืองพัทยาได้มีการจัดงานประเพณีสงกรานต์ของไทยมาอย่างต่อเนื่องทุกปี และในปีนี้การจัดงานประเพณีสงกรานต์และวันไหลเมืองพัทยาจะมีความพิเศษเกิดขึ้น โดยกำหนดจัดงานตั้งแต่วันที่ 18-20 เมษายน 2567 ซึ่งในวันที่ 18-19 เมษายน 2567 จะเป็นงานวันไหลนาเกลือและวันไหลพัทยา 
บรรยากาศสงกรานต์เมืองพัทยา (แฟ้มภาพ)
ทั้งนี้การจัดกิจกรรมทั้ง 2 วัน ในช่วงเช้าจะเป็นการจัดกิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำขอพรจากผู้สูงอายุ จากนั้น จะมีการเคลื่อนขบวนแห่พระพุทธรูปและพระสงฆ์ จากวัดชัยมงคลไปตามถนนเลียบชายหาดพัทยา นอกจากนี้ที่วัดชัยมงคลก็จะมีการจัดการละเล่นพื้นบ้านให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ร่วมสนุกสืบสานวัฒนธรรมการละเล่นของไทยแต่โบราณ 

และในช่วงบ่ายยาวไปถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 18-19 เมษายน จะเป็นช่วงของการกิจกรรมให้ความบันเทิง บริเวณชายหาดพัทยากลาง ซึ่งถือเป็นปีแรกที่จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น 

ส่วนในวันที่ 20 เมษายน 2567 จะเป็นการจัดงานวันกองข้าว ซึ่งเป็นพิธีบวงสรวงกองข้าวและขบวนแห่ นางฟ้า เทวดา ขบวนแห่ผีป่า ตามความเชื่อโบราณหมายถึงการร่วมกันกินข้าวกับบรรพบุรุษ เหล่านางฟ้า เทวดา และผีป่า โดยกำหนดจัด 2 ที่ คือที่ลานโพธิ์นาเกลือและวัดหนองใหญ่ เป็นต้น 
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา

"สิ่งที่พิเศษในการจัดงานประเพณีสงกรานต์และงานวันไหลเมืองพัทยาในปีนี้ ด้วยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้เลือกเมืองพัทยาในการผลักดัน Soft Power จัดงานมหาสงกรานต์ World Songkran Festival ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล โดยจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในการส่งเสริมการจัดงานสงกรานต์และวันไหลเมืองพัทยาตลอด 2 วัน ซึ่งกิจกรรมนั้นจะเน้นในเรื่องตำนานวันสงกรานต์ของไทย"

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการจัดกิจกรรมส่งเสริม สืบสานในเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ และจะไม่ทิ้งความเป็นเมืองพัทยาในเรื่องของความสนุกสนาน ผมเชื่อว่าการจัดงานสงกรานต์และวันไหลเมืองพัทยาในปีนี้จะยิ่งใหญ่กว่าทุกๆปี อย่างแน่นนอน โดยจะอัดแน่นไปด้วยวัฒนธรรมและความบันเทิงตลอดการจัดงาน" นายกเมืองพัทยา กล่าว

ทำความรู้จัก "วันไหล"

"วันไหล"
ที่แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า "ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล" คือ เป็นวันทำบุญขึ้นปีใหม่ที่นิยมปฏิบัติต่อๆ กันมาในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคกลางบางพื้นที่ มักจะจัดงานฉลองปีใหม่ขึ้นในช่วงหลังวันสงกรานต์ปกติ เป็นระยะเวลา 5-6 วัน 

โดยชาวบ้านจะก่อพระเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชา ให้ครบ 84,000 กอง เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ในศาสนาพุทธ โดยแต่ละกองจะถูกตกแต่งให้สวยงามด้วยการปักธงทิวต่าง ๆ ตกแต่งกันอย่างวิจิตบรรจง องค์ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง สุดแต่กำลัง รวมถึงมีผ้าป่า และสมณบริขารสำหรับถวายพระ และนมัสการพระสงฆ์พิจารณาบังสุกุล ทำบุญเลี้ยงพระ และและเลี้ยงแขกผู้ร่วมงานเป็นการสนุกสนานในเทศกาลตรุษสงกรานต์

เมื่อเสร็จงาน ทางวัดจะได้นำทรายจากการก่อพระเจดีย์ทรายไปสร้างเสนาสนะ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของภิกษุสงฆ์ ปูชนียสถานในวัด หรือถมที่ทางบริเวณวัด วัดใดที่อยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง จะทำการขุดลอกทรายที่ฝนซัดไหลลงมา หรือที่เรียกว่า "ก่อพระทรายน้ำไหล" โดยจะมีการรวบรวมผู้คนช่วยกันขุดลอกให้สะอาด ฝนที่ตกลงมาจะได้ไหลผ่านได้อย่างสะดวกนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ด้วยสภาพของบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป ความเจริญทางวิทยาการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น การขนทรายเข้าวัดด้วยแรงคนแบบสมัยก่อน จึงไม่ค่อยมีให้เห็นกันในปัจจุบัน เหลือเพียงการก่อพระเจดีย์ทราย และทำบุญตักบาตร เพื่อความเป็นสิริมงคล


อ้างอิงจาก :
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/travel/1062300
วิกิพีเดีย

logoline