svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

มช.ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง ปมซื้องานวิจัย

11 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งกรรมการสอบวินัยด่วน พบ เสนอผลงานให้ตัวเอง กว่า 100 ชิ้น แถมตั้งเบิกมหาวิทยาลัยสูงถึง 3 เท่า ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิ ระบุเป็นความผิดร้ายแรง ชี้แรงจูงใจถูกบีบให้มีผลงานวิชาการ

11 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อ.อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือ CHES (เชส) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูล ด้วย “มี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนหนึ่ง ไปตีพิมพ์ในเรื่องของวัสดุนาโนเป็น ชื่อที่หนึ่งโดยจ่ายค่าตีพิมพ์ไป 30,000 บาท โดยที่สายงานอยู่เทคนิคการแพทย์ ไม่ใช่วัสดุศาสตร์แล้วนำบทความที่ตีพิมพ์นั้น มาเบิกกับมหาวิทยาลัยจำนวน 120,000 บาท เรื่องนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้องสืบสวนสอบสวนครับ เพราะตอนนี้มีเว็บไซต์ที่ขายการเอาชื่อไปแปะในวารสารวิชาการ  กำลังเป็นประเด็นอยู่ #CHES ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ อ.อ๊อด ในฐานะ เลขาธิการ”

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อ.อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนึ่งในนั้นมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังทางภาคเหนือ เดิมทีในปี 2562 อาจารย์รายนี้มีงานวิจัยแค่ 1 ชิ้น จากนั้นปี 2563 มีเพิ่มเป็น 40 ชิ้น และในปี 2564 มีเพิ่มถึง 90 ชิ้น โดยการไปซื้อชื่อเป็นผู้แต่งลำดับที่ 1 เสียค่าใช้จ่าย 900 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30,000 บาท) แต่อาจารย์สามารถนำงานวิจัยไปเบิกเงินกับมหาวิทยาลัยได้ถึง 120,000 บาท

ศาตราจารย์ เฉลิมพล แซมเพชร อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านการตรวจผลงานวิจัยมาจำนวนมาก มองว่า หลักการหรือ จรรยาบรรณ ของการทำงานวิจัย ต้องเป็น ผลงานวิจัยที่ทำใหม่ และทำด้วยตัวเอง ซึ่งการซื้องานวิจัย ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงของระบบการศึกษา เพราะคนเป็นอาจารย์ต้องมีความรู้ความสามารถ ที่จะไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษา และ จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งด้าน คุณธรรม จริยธรรมด้วย

ช่องว่างที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น หลังจากที่มหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบ ซึ่งเป็นกึ่งธุรกิจ และวิธีการประเมินผลงาน ของอาจารย์ ใช้วิธีบังคับให้ทำผลงานวิชาการ เนื่องจาก อาจารย์นั้นเป็น พนักงานมหาวิทยาลัย และมีการบังคับให้ทำผลงานวิชาการ เพราะหากทำไม่ได้ ตามที่กำหนด ก็ ไม่ต่อสัญญา จึงเป็นเหตุผล ที่ทำให้มีการซื้อผลงานวิจัย อย่างในปัจจุบันนี้ 

อ.อ๊อด แฉ อาจารย์ม.ดังซื้อผลงานวิจัย มาเป็นของตัวเอง

ขณะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกแถลงการณ์ ชี้แจงในเรื่องดังกล่าว ลงวันที่ 9 มกราคม 2566 ระบุว่า ตามที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ มีการลงข่าว เรื่อง การกระทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัย โดยมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างสูงสุด โดยถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เพื่อดำเนินการทางวินัยกับบุคคลดังกล่าวตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยต่อไปแล้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอยืนยันที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ตามหลักธรรมาภิบาล และคุณธรรมทางวิชาการต่อไป

ม.เชียงใหม่ตั้งคณะกรรมการสอบ ปม ซื้องานวิจัย

logoline