svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

แปรรูป “ข้าวระยะเม่า” แก้ปัญหาศัตรูพืช สร้างมูลค่าเพิ่ม 3 เท่า

01 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เกษตรกรแนวคิดใหม่ แปรรูป “ข้าวระยะเม่า” สร้างมูลค่าเพิ่มกว่า 3 เท่า แก้ปัญหาศัตรูพืช นก หนอน แมลง เข้ามาทำลายนาข้าว

ที่ ต.บางดี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นางสาวทัศนีย์ สุขสนาน เกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer (YSF) จังหวัดตรัง พร้อมนางอารีย์ สุขสนาน และนายสมบูรณ์ ประจงใจ แม่และสามี ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรผสมผสาน โดยมีการทำนา ทำไร่ปลูกข้าวด้วย โดยได้เร่งเก็บเกี่ยวข้าวสายพันธุ์มะลิไร่หรือข้าวมะลิดอย ที่อยู่ในระยะเม่า เพื่อนำไปแปรรูปทำเป็นข้าวกล้องระยะเม่า เพื่อสุขภาพ โดยข้าวไร่ที่เห็นนี้ปลูกแซมในสวนยางพารา เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ เพื่อเอาไว้กิน เหลือก็เอาไว้ขาย โดยปลูกข้าวทั้งหมดรวม 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ข้าวพันธุ์มะลิไร่ ข้าวหอมดง ข้าวเหนียวลูกผึ้ง ข้าวเหนียวดอกยง ในระยะเวลาที่ต่างกัน เพื่อให้ข้าวทยอยสุกไม่พร้อมกันสะดวกในการเก็บเกี่ยว โดยพบมีการนำผ้ามาแขวนทำเป็นหุ่นไล่กา และขึงตาข่าย เพื่อดังจับนก ที่ลงมารุมกินข้าวในไร่นับตั้งแต่ระยะน้ำนม ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธี จึงเร่งเก็บข้าวที่เป็นระยะเม่า เพื่อนำไปแปรรูป ส่วนที่พ้นระยะเม่าก็รอเก็บเป็นข้าวเปลือกทั่วไป

แปรรูป “ข้าวระยะเม่า” แก้ปัญหาศัตรูพืช สร้างมูลค่าเพิ่ม 3 เท่า

นางอารีย์ สุขสนาน  แม่ กล่าวว่า ข้าวที่เก็บไปก่อนหน้านี้ และกำลังเลือกเก็บเรียกว่าข้าวระยะพลับพลึง หรือข้าวระยะเม่า สีจะเขียวเหลืองเล็กน้อย เพราะนกจำนวนมากมารุมกินข้าวในไร่ หากไม่เร่งเก็บไปแปรรูปบ้าง คงจะเหลือแต่เรียว เพราะนกเยอะมาก เนื่องจากคนทำไร่น้อย และที่บ้านมีรถไถเอง ก็สามารถไถปรับพื้นที่ปลูกข้าวได้เร็วกว่ารายอื่นๆ พอปลูกเร็ว รวงก็ออกเร็ว นกที่รู้ก็ลงรุมกินข้าวนับตั้งแต่ระยะนมข้าวแล้ว จึงต้องเก็บเร่งนำไปแปรรูป ซึ่งปีที่ผ่านมาเก็บเป็นข้าวเปลือกทั่วไปได้ทั้งหมด 67 กระสอบ กระสอบละ 30 กก. โดยเอาไว้กินเหลือก็เอาไว้ขาย ครบรอบปีปรากฏว่าข้าวยังเหลือกินเหลือขายอีกประมาณ 20 กระสอบ

 

ทางด้านนางสาวทัศนีย์ สุขสนาน ลูกสาว กล่าวว่า ข้าวทุกชนิดที่อยู่ในระยะเม่า หรือระยะพลับพลึง สามารถนำมาแปรรูปทำเป็นข้าวกล้องระยะเม่า เพื่อสุขภาพได้ทั้งหมด โดยเธอแปรรูปเป็นปีแรก ใช้ข้าวมะลิไร่ หรือข้าวมะลิดอยที่ได้ระยะเม่าก่อนสายพันธุ์อื่น เป็นข้าวที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานให้กับเกษตรกรชาวจังหวัดน่านเป็นผู้ปลูก โดยเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ชาวจังหวัดตรังได้ไปขอพันธุ์ข้าวมาปลูกเป็นครั้งแรกที่อำเภอวังวิเศษ หลังจากนั้นก็มีการขยายพันธุ์ต่อเนื่อง จนตอนนี้ข้าวมะลิไร่ หรือข้าวมะลิดอย กระจายไปในหลายพื้นที่ของ จ.ตรัง ส่วนที่นำมาแปรรูปเรียกว่า เป็นข้าวระยะพลับพลึง หรือในพื้นที่เรียกว่าข้าวระยะดีข้าวเม่า คือ เป็นข้าวหลังจากระยะน้ำนม ไปประมาณ 7-10 วัน มาแปรรูปเป็นข้าวระยะเม่า หากพ้นระยะเม่าไปแล้วไม่สามารถจะนำมาแปรรูปได้

แปรรูป “ข้าวระยะเม่า” แก้ปัญหาศัตรูพืช สร้างมูลค่าเพิ่ม 3 เท่า

ส่วนสาเหตุที่เก็บข้าวในระยะเม่ามาแปรรูป เนื่องจาก มีนก ซึ่งเป็นศัตรูพืชตัวสำคัญจำนวนมาก ต้องใช้คนออกไปเฝ้า ไปไล่ โดยมีแม่ออกไปดูแล พร้อมทำหุ่นไล่กา และทำตาข่ายดักจับ แต่ก็เอาไม่อยู่และเสียเวลา จึงลองศึกษาวิธีแปรรูป สุดท้ายจึงไปอ่านเจอผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏโคราช ก็เลยลองศึกษา และทดลองแปรรูป เมื่อทำแล้วพบว่าสามารถต่อยอดจากราคาข้าวสารปกติได้สูงมากกว่าสามเท่าตัว โดยในตลาดขายกิโลกรัมละ 195 บาท แต่ของเธอจะขายอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 165 บาท เพราะวิธีการทำหลายขั้นตอนมากทำต่อครั้งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 วัน

แปรรูป “ข้าวระยะเม่า” แก้ปัญหาศัตรูพืช สร้างมูลค่าเพิ่ม 3 เท่า โดยมีลูกค้าสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก เพราะเป็นข้าวที่อยู่ในระยะแป้งอ่อนมีจมูกข้าว และสารอาหารที่เคลือบเมล็ดยังคงอยู่ ผลการวิจัยพบว่าอุดมด้วยคุณค่าทางอาหารสูง 3 เท่าของข้าวกล้องทั่วไป มีสารสำคัญบำรุงสมอง และมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่ให้นมบุตร ผู้ป่วย และทุกเพศ ทุกวัย ตอบโจทย์คนมีปัญหาสุขภาพ หรือรักสุขภาพ

logoline