svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

"แม่แจ่ม"ครองแชมป์ฝุ่นควันพิษภาคเหนือ

02 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เชียงใหม่ – อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูง 117 มคก.ต่อลบ.ม. ติดอันดับ 1 ในภาคเหนือ ด้านผอ.อ้อผะหญา เผยชาวบ้านเริ่มชิงเผาเชื้อเพลิง ชี้ปัญหาหลักเกิดหมอกควันอยู่ในพื้นที่ป่า เหตุไม่มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างถูกวิธี

             เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในเมืองเชียงใหม่วันนี้ เริ่มมีหมอกควันเข้ามาปกคลุม มองเห็นภูเขาได้ไม่ชัดเจนเหมือนช่วงเวลาปกติที่ไม่มีหมอกควันปกคลุม โดยข้อมูลจากกรมควมคุมมลพิษ พบว่าฝุ่นละออง ขนาดเล็กPM2.5 เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยค่าคุณภาพอากาศเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 มีนาคม 2565 คุณภาพอากาศบริเวณ สถานีโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ วัดค่า PM2.5 ได้ 117 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของภาคเหนือ รองลงมาที่สถานีต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน วัดค่า PM2.5 ได้ 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

 

             สำหรับที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ที่สถานีต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ วัดค่า PM2.5 ได้ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ, ที่สถานี ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ วัดค่า PM2.5 ได้ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ, ที่สถานี ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ วัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 58 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ, ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่ วัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศปานกลาง

"แม่แจ่ม"ครองแชมป์ฝุ่นควันพิษภาคเหนือ

 

               นายสมเกียรติ มีธรรม ผู้อำนวยการสถาบันอ้อผะหญา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สาเหตุหลักที่ทำให้คุณภาพอากาศในพื้นที่อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มีค่า PM2.5 สูงขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการชิงเผา โดยไม่ได้ลงทะเบียนขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ โดยชาวบ้านเริ่มบริหารจัดการเชื้อเพลิงกันเอง โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าชุมชน เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง เริ่มมีเชื้อเพลิงสะสมอยู่ประมาณร้อยละ 50 ชาวบ้านจึงรีบดำเนินการเผาใบไม้ในช่วงนี้ก่อน แต่เนื่องจากในพื้นที่ป่ายังมีความชื้นสูง ทำให้การเผาไม้ทำได้ช้าและเกิดควันเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามค่า PM2.5 ในพื้นที่แม่แจ่มที่สูงขึ้น เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น เนื่องจากหลังจากเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งอย่างชัดเจน เชื่อว่าประมาณ กลางเดือนเมษายน 2565 จะเกิดหมอกควันเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังมีเชื้อเพลิงเหลืออยู่ในพื้นที่ป่าอีกร้อยละ 50

สาเหตุที่ทำให้อากาศในอ.แม่แจ่มมีค่า PM2.5 สูงขึ้น เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการเผาใบไม้

              สำหรับพื้นที่รวมในอ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่มีอยู่ประมาณ 1.8 ล้านไร่ มีพื้นที่ใช้ประโยชน์อยู่เพียง 430,000 ไร่เท่านั้น ที่เหลือเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มักจะเกิดไฟป่าและเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดหมอกควัน แม้จะมีการจัดชุดลาดตระเวนเพื่อสอดส่องดูแล แต่กำลังคนที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับจำนวนพื้นที่ป่าที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก 

 

             จากเดิมที่ทางสถาบันอ้อผะหญา เคยร่วมผลักดันแม่แจ่มโมเดล เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า เมื่อปี 2561-2562 ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง สามารถช่วยลดพื้นที่เผาไหม้ได้ แต่หลังจากนั้นไม่มีการสานต่อโครงการมาหลายปี ไม่มีการขยายพื้นที่สนับสนุนชาวบ้านให้ปลูกพืชอื่นที่ทำรายได้ทดแทนการปลูกข้าวโพด ไม่มีการเข้ามาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพได้อย่างยั่งยืน

สาเหตุที่ทำให้อากาศในอ.แม่แจ่มมีค่า PM2.5 สูงขึ้น เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการเผาใบไม้

            อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่ได้เข้าร่วมในโครงการแม่แจ่มโมเดล ด้วยการปลูกกาแฟ จำนวน 160 ไร่ และ ปลูกไผ่ จำนวน 2,000 ไร่ ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาเรื่องไฟป่าเข้ามาในพื้นที่เลย แต่ช่วงหลังไม่ได้รับการส่งเสริมต่อยอดเพิ่มเติม เนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณ และไม่มีการส่งเสริมเรื่องการตลาดอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการแปรรูปไผ่ หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท ต่างงดสั่งสินค้าเข้าไปประดับตกแต่ง ทำให้ช่วงนี้กลุ่มผู้ปลูกไผ่ต้องแปรรูปไผ่เป็นโต๊ะ เก้าอี้ เพื่อจำหน่ายให้กับร้านอาหารประเภทปิ้งย่าง เพื่อประคองตัวเองให้มีรายได้ไปก่อน

สาเหตุที่ทำให้อากาศในอ.แม่แจ่มมีค่า PM2.5 สูงขึ้น เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการเผาใบไม้

              แม้ว่าในปีนี้ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มจะมีการปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้น จากการสำรวจพบกว่ามีการปลูกข้าวโพดประมาณ 120,000 ไร่ เพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่ปลูกอยู่ประมาณ 100,000 ไร่ แต่ข้าวโพดไม่ใช่จุดหลักที่ทำให้เกิดหมอกควันไฟป่า เนื่องจากชาวบ้านเริ่มตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาหลักจากเผาเศษซังข้าวโพด จึงใช้วิธีการถางไร่ก่อนทำการเผา บางจุดใช้วิธีการไถ่กลบเพื่อลดหมอกควัน ปัญหาหลักของการเกิดหมอกควันจึงเชื่อว่าอยู่ในพื้นที่ป่า ที่ไม่มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างถูกวิธี

ข่าว/ภาพ โดย นิศานาถ  กังวาลวงศ์  ศูนย์ข่าวเนชั่นภาคเหนือ 

logoline