svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ประชาสัมพันธ์

’PTG’ เปิดแนวคิด ‘อยู่ดี มีสุข’ เชื่อมทุกภาคส่วนมุ่งสู่ความยั่งยืน

เป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยปี ค.ศ. 2065 จะสำเร็จได้นั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน “นายรังสรรค์ พวงปราง” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTG เปิดมุมมองการดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ เชื่อมให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงชีวิตที่“อยู่ดี มีสุข” ในทุกด้านของช่วงชีวิต

 

นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา PTG ดำเนินธุรกิจโดยคำถึงถึงความยั่งยืนมาโดยตลอด โดยจะต้องสร้างความยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้เสียซึ่งครอบคลุมทั้ง พนักงาน ลูกค้า ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนหน้านี้มนุษย์บริโภคทรัพยากรอย่างไร้ขีดจำกัด จนเกิดผลกระทบต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

นายรังสรรค์ พวงปราง

 

PTG เริ่มให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากเดิมที่เน้นดูแลเพียงด้านสังคม เช่นการทำโครงการเพื่อสังคม อย่างสนับสนุนด้านการศึกษา แต่ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการประกอบธุรกิจอีกด้วย เนื่องจากพบว่าบุคลากรและลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่เริ่มคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ทาง PTG จึงได้เริ่มมองถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดมากขึ้น อีกทั้ง PTG มองเรื่องของความยั่งยืน โดยเริ่มตั้งแต่ภายในองค์กรและร้อยเรียงมาเป็นกิจกรรมสอดแทรกในธุรกิจ ประกอบกับให้ความสำคัญด้านการลงทุนที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน ลดการปล่อยคาร์บอน และก่อให้เกิดมลพิษน้อยที่สุด

 

 

เพิ่มพอร์ตพลังงานสะอาด

นายรังสรรค์ กล่าวว่า PTG ตั้งเป้าติดตั้งแผงโซลาร์สถานีบริการน้ำมันสิ้นปี 2567 มากกว่า 200 สาขา โดยจะเริ่มจากสถานีที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงก่อน และในส่วนของสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตั้งเป้าติดตั้ง สิ้นปี 2566 ที่ 62 สาขา ส่วนความคืบหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนกำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ งบลงทุนราว 1,300-1,400 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างประกาศรับฟังความคิดเห็น คาดว่าจะจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปี 2568 ดังนั้น นอกจากจะเพิ่มพอร์ตพลังงานสะอาดแล้ว ยังช่วยบริหารจัดการขยะให้กับชุมชนอย่างถูกวิธี เพราะขยะก่อเกิดก๊าซมีเทนซึ่งรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนมากถึง 24 เท่า จึงมองว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในกรลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน และอาจขยายไปยังชุมชนอื่นในอนาคต

 

พัฒนาน้ำมัน SAF ลดโลกร้อน

นอกจากนี้ PTG อยู่ระหว่างศึกษานวัตกรรมเพื่อผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable AviationFuel : SAF) เนื่องจากเป็นข้อบังคับของสายการบินที่จะบินไปอียู จึงต้องมีเชื้อเพลิงที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ทั้งนี้ PTG จึงเห็นโอกาสทางธุรกิจ จากการที่ PTG มีแบรนด์น้ำมันพืชมีสุข” และคู่ค้าอยู่จำนวนหนึ่ง รวมทั้งสถานีบริการน้ำมันกระจายทั่วประเทศจะสามารถรวบรวมน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาพัฒนาและสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ดีรวมถึงอยู่ระหว่างศึกษาพืชอื่น ๆ เพื่อผลิตน้ำมัน SAF ด้วย

 

อีกทั้งยังศึกษานวัตกรรม Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) เพื่อนำคาร์บอนที่จัดเก็บมาใช้ประโยชน์ ซึ่งจีนได้มีการนำเอาคาร์บอนปล่อยเข้าไปในโรงเรือนมะเขือเทศ ด้วยหลักการของพืชเวลากลางวันจะสังเคราะห์แสงโดยดูดซับคาร์บอนแล้วปล่อยออกซิเจนออกมาเลี้ยงมะเขือเทศ โดยบริษัทจะวิเคราะห์ความเป็นไปได้เพื่อนำมาปรับใช้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อไป

 

 

ส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรท้องถิ่น

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา PTG ได้ส่งเสริมเกษตรกรปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิกา ซึ่งต้องเปลี่ยนจากเขาหัวโล้นมาปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่อย่างอาโวคาโด และแมคคาเดเมียพร้อมกับปลูกกล้วยเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงแรกที่เมล็ดกาแฟยังไม่สามารถให้ผลผลิตได้ ดังนั้น ทุกกิจกรรมที่ PTG เข้าไปสนับสนุนชุมชนจะต้องมองทั้งซัพพลายเชน เพราะอนาคตเมล็ดกาแฟในประเทศจะไม่เพียงพอต่อความต้องการการลงพื้นที่จะช่วยส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ พร้อมแนะนำผลผลิตที่ดีมาให้คนไทยได้บริโภค ถือเป็นการสร้างความยั่งยืนทั้งประเทศ

 

สุดท้ายนี้ทาง PTG มองว่าคำว่าอยู่ดี มีสุข” คือ ปัจจัย 4 ต้องสมบูรณ์ โดยมีที่อยู่อาศัยที่ดี มีการดูแลสุขภาพที่ดี เพื่อให้มีความมั่นคง ดังนั้น PTG จึงมองชุมชนที่อยู่อาศัยจะเป็นสังคมเดี่ยวไม่ได้ จึงต้องก้าวไปข้างหน้า ทุกกิจกรรม PTG จะเป็นสะพานเชื่อมให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับประโยชน์ อาทิ ลูกค้ากลุ่มบริโภคน้ำมัน ซึ่งนั่นก็คือเกษตรกร และภาคขนส่งที่กระจายทั่วประเทศ กรณีผลผลิตล้นตลาด PTG ได้ร่วมกับกรมการค้าภายในนำสินค้าจากเกษตรกรมาแจกให้กับลูกค้าในภูมิภาคอื่น ๆ ที่เข้ามาเติมน้ำมัน ถือเป็นการทำ ESG ครบวงจร รวมถึงการบริหารจัดการราคาพลังงานของภาครัฐที่ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรเพื่อสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทให้ยั่งยืนอีกด้วย