svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ประชาสัมพันธ์

เครือเนชั่น จัดเสวนา "นวัตกรรมรักษ์โลก ไทยอยู่จุดไหน" 

เครือเนชั่น โดยสปริงนิวส์ เนชั่น ฐานเศรษฐกิจ จัดเสวนา "Innovation Keeping the World นวัตกรรมรักษ์โลก ไทยอยู่จุดไหน" โดยมีภาคเอกชนร่วมหาทางออก 

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปัญหาโลกที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือภาวะโลกรวน จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เรื่องโลกร้อน เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน ประเทศอื่น ๆ อย่าง สิงคโปร์ ก็เจอปัญหาเดียวกันกับไทย  

นอกจากนี้ ยังได้เปรียบเทียบปัญหาโลกร้อนที่กำลังเผชิญว่า เป็น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โดยทุกข์ คือปัญหาที่เรากำลังเผชิญ เช่น เรากำลังเผชิญหน้ากับอุณหภูมิที่สูงขึ้น, สมุทัย คือ การรู้สาเหตุของทุกข์ เช่น ก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในความเป็นจริงเป็นกลุ่มแก๊สที่ไม่ได้เป็นมลพิษ แต่มันคลุมโลกอยู่ และทำให้โลกร้อนขึ้น และสาเหตุของ GHG ก็เกิดจากตัวเราเอง

เกียรติชาย ไมตรีวงษ์

โดยเฉพาะจากภาคพลังงาน ที่เมื่อก่อนผลิตจากถ่านหิน เกิดจากอุตสาหกรรม เช่น ปูนซีเมนต์สำหรับการก่อสร้างที่ดำเนินอยู่ทุกวัน และเกิดจากสารอินทรีย์ ก๊าซชีวภาพที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทนลอยสู่ชั้นบรรยากาศที่มาจากการตัดไม้ทำลายป่า พื้นที่การเกษตรและปศุสัตว์ 

นิโรธ คือ การหาทางออก อย่างเวทีระดับโลก (COP) ก็พยายามกดดัน ออกกฎระเบียบระหว่างประเทศ เช่น ข้อตกลงปารีส, Protocol, ESG เป็นต้น เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษของแต่ละประเทศ 

สุดท้าย มรรค คือ การแก้ไขปัญหาหรือการจัดการ เราต้องทำ Climate Action ลงมือทำ เราปล่อยไม่ได้อีกแล้ว เวลาเราเหลือน้อยมากแล้ว และเราต้องคิดได้แล้วว่าเราจะอยู่กับมันยังไง หรือที่เราเรียกว่าการปรับตัว (Adaptation) ทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจก GHG ประมาณ 50,000 ล้านตันต่อปี แต่เป้าหมายเราต้องให้เหลือเพียง 20,000 ล้านตันต่อปี พอเป็นแบบนี้ หลายคนอาจสงสัยทำไมไม่ตั้งเป็นปล่อยให้เหลือศูนย์ไปเลย ก็ต้องบอกตามตรงว่า การทำให้ได้ศูนย์ มันเป็นไปได้ยาก ลดยังไงก็ยังต้องมีการปล่อยอยู่ดี 

เกียรติชาย ไมตรีวงษ์

แต่จะทำอย่างไรจะปล่อยได้น้อยที่สุด เราก็เลยตั้งเป้าว่า ให้ลดลงเหลือ 20,000 ล้านตัน และควบรวมกับวิธี Negative Emission คือเก็บให้ได้มากที่สุด ก็เก็บให้ได้อย่างน้อย 20,000 ล้านตัน ก็เท่ากับว่า เราจะสามารถลดการปล่อยได้ ดังนั้น Technology ที่สำคัญมีอยู่ 3 แบบด้วยกัน คือ Technology สำหรับการลด สำหรับการปล่อย และสำหรับการเก็บ และ Remove ออกไป 

ทั้งนี้ ไทยเราจะยังคงที่ในด้านของการการนำเข้าแบตเตอรี่ (Battery Import) ต่อไปเรื่อย ๆ หากไม่เริ่มประดิษฐ์เอง สร้างเอง ความท้าทาย คือ จะทำยังไงให้การผลิตใช้เองในบ้านเราทำได้ และราคาถูก แต่แน่นอนเราเชื่อมั่นว่าในอนาคต ราคาของเทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกลงได้ หากทุกคนหันมาให้ความสนใจ สุดท้าย Innovation จะมีความหมาย ก็ต่อเมื่อเราทำยังไงให้ราคาถูก ลดผลกระทบได้ และสร้างงานได้ด้วย 

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งในภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทย ได้มีการเร่งตัวเองในการบรรลุเป้าหมาย การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์จากเดิมในปี ค.ศ. 2065 ขยับขึ้นมาเป็น 2050 จึงทำให้มองว่ายังไงไทยต้องทำให้ได้ 

ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน

นอกจากไทยยังคงเดินหน้าผลักดันประเทศสู่ยุคพลังงานสะอาดภาพรวมทั้งประเทศแล้ว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือ อีกหนึ่งองค์กรชั้นนำที่เดินหน้าใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยี ในการผลักดันไทยสู่พลังงานสะอาด ยกตัวอย่าง เช่น โซล่าเซลล์ลอยน้ำไฮบริด ที่ กฟผ.เร่งเดินหน้าโครงการโซล่าเซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อน รองรับความต้องการไฟฟ้าสีเขียวของภาคธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระดับนานาชาติ พร้อมศึกษาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ทั้งนี้ กฟผ.จึงเร่งเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ชุดที่ 1 กำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ ที่มีการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานน้ำ รวมทั้งเพิ่มความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ โดย กฟผ. มีศักยภาพดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนสูงถึง 10,000 เมกะวัตต์

โดยเตรียมเสนอโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าสีเขียวของภาคธุรกิจ ควบคู่กับการเดินหน้าส่งเสริมใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) เพื่อยืนยันการใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียวตามมาตรฐานสากล โดย กฟผ. ได้รับสิทธิ์จาก I-REC ประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้เป็นผู้รับรอง (Local Issuer) รายเดียวของประเทศไทย 

อย่างไรก็ตาม กฟผ.ยังเตรียมยกระดับการจัดการใช้พลังงานของภาคประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและลดคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 โฉมใหม่ ที่แสดงค่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเครื่องใช้ไฟฟ้า กำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนนี้รวมถึงเดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม ทั้งป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน และป่าชายเลน โดยในปี 2565 สามารถเพิ่มพื้นที่ปลูกป่ารวมกว่า 1.03 แสนไร่ ตั้งเป้าปลูกป่าในปี 2566 จำนวน 1 แสนไร่ โดยมีเป้าหมายปลูกป่าให้ครบ 1 ล้านไร่ในปี 2574

ด้าน ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร โฆษกและผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศ ของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า ข้อมูลทางภูมิสารสนเทศและดาวเทียม จะพบว่าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นทุกปี และความเหวี่ยงของอุณหภูมิรุนแรงขึ้นทุกปีเช่นกัน เมื่ออากาศร้อนขึ้น เอลนีโญ และ ลานีญา ก็เหวี่ยงแรงขึ้นทุกวัน แล้งจะแล้งหนักขึ้น ฝนจะตกหนักขึ้น รุนแรงขึ้น  

ปกรณ์ เพ็ชรประยูร

จากข้อมูลภูมิสารสนเทศและดาวเทียมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่าสถานการณ์ที่เราเจออยู่ปัจจุบันแทบจะล้างตำราทั้งหมดที่เราเคยเรียนมา ซึ่งปัจจุบัน สิ่งที่เราทำได้คือ เร่งปรับตัว และเรียนรู้จากสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เพื่อให้อุณหภูมิโลกลดลง ด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก 

อุณหภูมิเปลี่ยน ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกร้อนขึ้นอย่างเดียว แต่กระทบทุกภาคส่วน ทั้งเรื่องกระบวนการผลิต ภาคการเกษตร และ ภาคอุตสาหกรรม การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ทั่วโลกเคยตั้งกันไว้ในปี 2030 ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนตัวเชื่อว่า เราน่าจะทำได้สำเร็จก่อน  

วิธีการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ต้องมองภาพรวมทั้งหมดเป็นภาพเดียวกัน การแก้ไขต้องแก้ทั้งระบบ หลังจากนี้จะมีดาวเทียมอีกกว่า 30 ดวง ที่สามารถตรวจวัดก๊าซเรือนกระจกได้ จะกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่นานาชาติใช้กำหนดนโยบาย เช่น การกีดกันการค้ากับประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ เป็นต้น 

ขณะที่ นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย บอกว่า ประเทศที่มีการซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากคือ "ประเทศจีน" นี่คือเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย เทคโนโลยีที่ดีขึ้น ทำให้ผู้ใช้เริ่มหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นทั่วโลก แต่สิ่งที่เห็นแน่ๆรถยนต์ ICE เริ่มมียอดขายลดลง 

เป็นคำถามที่ว่า ทำไมเราจะต้องใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็มาจากการเผาถ่านหรือ Natural Gas แต่หลายคนยังไม่ทราบว่าประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงมาใช้พลังงานใหม่มากขึ้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานสีเขียว 

กฤษฎา อุตตโมทย์

ประเทศไทย มีอัตราการเติบโตของรถยนต์ BEV เทียบออกมาทั้ง BEV Plug-In Hybrid จนไปถึงรถไฮบริด BEV ในปีที่แล้วจดทะเบียนไปแล้วกว่า 20,816 คัน เติบโตกว่า 400% เทียบกับปีก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นนโยบายต่างๆช่วยให้คนไทยซื้อรถยนต์ไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง ไรเดอร์หรือวินมอเตอร์ไซค์เริ่มเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงการขนส่งสาธารณะ เช่น รถบัส รถเมล์ไฟฟ้า ในกรุงเทพมหานคร นับรวมปีนี้จดทะเบียนไปแล้วทั้งหมด 976 คัน และมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นอย่างรวดเร็ว 

อนาคตมีแนวโน้มนโยบายต่างๆจากรัฐบาลและหน่วยต่างๆ สนับสนุนการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการเดินทางสาธารณะ ในไตรมาสแรกมีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 14,777 คัน ในเดือนเมษายนคาดว่าจะมีราว 18,000 คัน ซึ่งล้วนนำเข้ามาจากประเทศจีนทั้งสิ้น 

ปี 2024 เป็นต้นไปจะมีค่ายรถยนต์ต่างๆเข้ามาประกอบและผลิตในประเทศไทย ตามที่ได้เซ็น MOU กันไว้กับผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า ขณะนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์เป็นอันดับ 10-11 ของโลก แต่เราทำได้เพียงนำเข้าและมาประกอบในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันยังมีการใช้ Car Sharing เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชั่น haup car ในอนาคตก็ควรจะมีการสนับสนุนให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยในด้านสิ่งแวดล้อมได้ด้วย 

ภายใน 2 ปี ตั้งเป้าในการจดทะเบียน 30% ของรถทั้งหมด และภายในปี 2030 ตั้งเป้าที่จะผลิตจำนวน 50% ของทั้งหมด และภายในปี 2035 ตั้งเป้าผลิตเป็น 100% ของการผลิตทั้งหมด และในอนาคตเราจะได้เห็นรถที่สามารถรีไซเคิลได้ มีการนำใช้ Recycle Material มากขึ้น ซึ่งจะตอบโจทย์ในด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

ด้าน นายพีรกานต์ มานะกิจ ประธานอำนวยการบริษัทไอออน เอนเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า โซล่าเซลล์ในสมัยก่อนต้นทุนสูงมาก แต่ในขณะนี้โซ่ล่าเซลล์เป็นแหล่งพลังงานที่ถูกที่สุด และในอดีตแผงโซล่าเชลล์ก็เป็นแผงธรรมดา แต่ขณะนี้ก็มีการพัฒนาเป็นกระเบื้องที่เป็นโซล่าเซลล์ ส่วนตัวแบตเตอรี่ก็มีคอสที่ลดลงมาเรื่อยๆ อนาคตจะเกิดการคุ้มทุน การติดโซล่าเซลล์ก็ยังเป็นนวัตกรรมช่วยโลกอยู่