svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พรรคการเมือง"โปรดทราบ "กกต." ชี้เปิดตัวว่าที่ส.ส.สูญเปล่า กม.ไม่รับรอง

04 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พรรคการเมือง" ทราบแล้วเปลี่ยน กกต.ออกโรงแจง "พ.ร.ป.พรรคการเมือง"ยังไม่ประกาศใช้ ส่งผลให้บรรดาพรรคที่เปิดตัวผู้สมัครส.ส.ถือว่าสูญเปล่า ต้องปฏิบัติตามกระบวนการ "พ.ร.ป.พรรค" ฉบับใหม่ก่อน

 

การเมืองเวลานี้ถือว่าใกล้เข้าโหมดเลือกตั้งมาทุกขณะ หลังศาลรัฐธรรมนูญให้กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

 

ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย  สำนักเลขาธิการสภาฯ จะส่งร่างพ.ร.ป.เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งสองฉบับมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยสลค.จะนัดหมาย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา ตรวจถ้อยคำความถูกต้อง ก่อนที่จะส่งกลับให้สำนักเลขาธิการครม. เสนอ นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ และรอประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเป็นกฎหมายอย่างสมบูรณ์ คาดประมาณปลายเดือนธันวาคม 2565 กฎหมายประกอบรธน.ทั้งสองฉบับจะมีผลบังคับใช้

 

ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีประเด็นที่น่าสนใจ เกี่ยวข้องกับบรรดา"พรรค การเมือง" ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม "พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง" โดยเฉพาะข้อปฏิบัติบางประการ ที่พรรคการเมืองได้ดำเนินการไปล่วงหน้าก่อนกฎหมายบังคับใช้ จะถือว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือไม่   

 

กล่าวคือ  ก่อนหน้านี้หลายพรรคการเมืองต่าง"เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครส.ส."  ให้บรรดาแฟนคลับได้ยลโฉม เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เก็บไว้ในอ้อมอก อ้อมใจ พิจารณา ก่อนถึงวันเข้าคูหา "กาคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ" ตามกติการเลือกตั้งใหม่ โดยใช้บัตร 2 ใบ 

 

 

 

แต่ทว่า "ดร.ฐิติเชษฐ์ นุชนาฏ"  คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.อธิบายย้ำกับ "ทีมข่าวการเมืองเนชั่นทีวี" ถึงนักการเมืองและพรรคการเมือง ที่ได้เปิดตัวผู้สมัครไปแล้วนั้น ซึ่งตาม พ.ร.ป. พรรคการเมือง ที่ผ่านการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  หากสิ่งที่ดำเนินการก่อนกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ถือว่าเสียเปล่า  

 

 ดร.ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง

 

"กระบวนการที่ผ่านมาคิดว่าทำได้ แต่กฎหมายนี้ไม่สามารถทำได้ ถือว่าเสียเปล่า ต้องใช้บทบัญญัติกฎหมายนี้ ซึ่งรายละเอียดมากมายที่มีการแก้ไข กระบวนการสรรหาผู้สมัคร บางพรรคเปิดตัวไปแล้ว ทับเขตกัน กระบวนการเสนอตัวผู้สมัคร เป็นกระบวนการตามกฎหมายเก่า ไม่ใช่กฎหมายใหม่ เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถทำได้"

    



ขณะที่ "นายโชคดี ด้วงแป้น"  รองผู้อำนวยการสำนักกิจการพรรคการเมือง อธิบายว่า กฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ที่แก้ไข โดยเฉพาะสมาชิกพรรค ถ้ายุบสภาต้องสังกัดพรรคการเมือง ไม่น้อยกว่า 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง ถ้าอยู่ครบวาระ ต้องสังกัดไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

 

ผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นำโดย  "ดร.ฐิติเชษฐ์ นุชนาฏ ร่วมชี้แจงประเด็นข้อกม.ก่อนเลือกตั้ง

 

แต่ประเด็นสำคัญ คือ การจัดตั้งสาขาพรรคหรือแต่งตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัด เนื่องจากหลักเกณฑ์ใหม่ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง กำหนดถ้าพรรคจะส่งผู้สมัครเขตใดในจังหวัดนั้น ต้องมีสาขาหรือตัวแทนพรรคในจังหวัดนั้นที่ใดที่หนึ่ง แม้มีที่เดียวก็สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขต 


ส่วนวิธีการสรรหาผู้สมัคร พรรคต้องมีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพราะหากขาดขั้นตอนหรือกระบวนการใด แล้วถูกร้องเรียนอาจถูกดำเนินคดี โดยการสรรหาผู้สมัครแบบแบ่งเขต กฎหมายกำหนดว่า จะทำได้ก่อนมีพระราชกฤษฎีกาวันเลือกตั้ง ดังนั้น สาขาและตัวแทนพรรคการอย่างน้อยหนึ่งที่ หรือถ้ามีหลายแห่ง พรรคต้องกำหนดให้สาขาใดหรือตัวแทนพรรคใด เป็นผู้สรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้น โดยแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองก่อน 

 

สำหรับวิธีการสรรหาแบบแบ่งเขต คณะกรรมการสรรหาต้องกำหนดวัน เวลา สถานที่ เพื่อให้ผู้สมัคร สมาชิกพรรค มายื่นความประสงค์จะเป็นผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้นๆ เมื่อได้ครบหรือปิดประกาศรับสมัคร คณะกรรมการสรรหาต้องตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าว ก่อนส่งให้สาขาหรือตัวแทนพรรค จัดประชุมรับฟังความเห็นผู้สมัคร 
โดยการจัดประชุม กฎหมายกำหนดให้ กกต. เป็นผู้ออกหลักเกณฑ์ ซึ่งเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อกฎหมายประกาศใช้บังคับ ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กกต. และเมื่อสาขาหรือตัวแทนจังหวัดให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ส่งชื่อที่ต่อคณะกรรมการสรรหาพิจารณาอีกครั้งว่าเห็นชอบหรือไม่ ก่อนส่งไปยังกรรมการบริหารพรรคพิจารณาครั้งสุดท้าย  ถ้าเห็นชอบรายชื่อผู้ใด ให้หัวหน้าพรรคออกหนังสือรับรองเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และยื่น ต่อ กกต. ที่เปิดรับสมัคร
ส่วนผู้สมัครบัญชีรายชื่อ มีความคล้ายกัน แต่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ปรับจาก 150 เหลือ 100 คน คณะกรรมการสรรหาต้องแจ้งไปยังตัวแทนหรือสาขาพรรค และ กก.บห. ให้ส่งรายชื่อใดเป็นผู้สมัคร

 

โดยคณะกรรมการสรรหาจัดทำบัญชีรายชื่อไม่เกิน 100 คน  พร้อมตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ก่อนส่งให้สาขาหรือตัวแทนรับฟังความเห็น ก่อนส่งกลับให้ กก.บห. พิจารณาขั้นสุดท้าย เพื่อให้ความเห็นชอบหรือไม่กับบัญชีรายชื่อที่ส่งมา ถ้าเห็นชอบหัวหน้าพรรคก็ต้องยื่นกับ กกต. 

 

"พรรคการเมือง"โปรดทราบ "กกต." ชี้เปิดตัวว่าที่ส.ส.สูญเปล่า กม.ไม่รับรอง


"ข้อห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้ง กฎหมายกำหนดชัดว่า เป็นหน้าที่ กก.บห. ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายทั้งแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ถ้ามีการร้อง ทำผิดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง หรือขาดตกบกพร่อง หรือบุคคลไม่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง กกต.จะตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าเป็นไปตามร้องเรียนหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะมีโทษทั้งทางอาญา พร้อมเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง แต่กฎหมายกำหนดอีกว่า กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้ทำการให้ส่งผู้สมัครเสีย แต่ กก.บห.ต้องถูกดำเนินคดี หากตรวจสอบว่าเป็นจริงตามร้องเรียน ดังนั้น ขอย้ำว่าเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่ต้องระมัดระวัง”

 

"ขอย้ำว่า ที่พรรคการเมืองได้เปิดตัวผู้สมัครเลือกตั้งส.ส.ไปแล้วนั้น ก็ต้องกลับมาทำตามขั้นตอนของพ.ร.ป.พรรคการเมืองตามที่กล่าวไว้ก่อน ที่ดำเนินการกัน ณ ขณะนี้ ไม่มีกฎหมายรองรับและไม่ได้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลในสิ่งที่กระทำไว้ก่อนด้วย ดังนั้น การเปิดตัวไว้แล้วนั้นจึงถือว่าสูญเปล่า  "  "นายโชคดี ด้วงแป้น"  รองผู้อำนวยการสำนักกิจการพรรคการเมือง กล่าว 

logoline