เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
30 พฤศจิกายน 2565 ภายหลัง "ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรธน." ปมปลดล็อกท้องถิ่น บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา ซึ่งคาดว่าจะมีการลงมติให้ผ่านหรือไม่ในวันนี้ ( 30 พฤศจิกายน 2565 )
นอกจาก 3 สมาคมท้องถิ่น ร่วมยื่นหนังสือถึง"นายชวน หลีกภัย" ประธานรัฐสภา สนับสนุนร่างแก้ไขรธน.ฉบับนี้ ล่าสุด รองศาสตราจารย์ ดร.ธนพร ศรียากูล "นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ดณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกดรองส่วนท้องถิ่นได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก หนุนการแก้ไขรธน.ปลดล็อกอำนาจมหาดไทยสู่ท้องถิ่นเช่นกัน
จดหมายเปิดผนึก มีเนื้อหาว่า แสดงจุดยืนสนับสนุน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ....หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น
ตามที่ "ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ .... พุทธศักราช ..." ซึ่งประชาชนจำนวนหนึ่งยื่นเสนอต่อรัฐสภา และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 นั้น กระผมขอร่วมเป็นอีกหนึ่งเสียงสนับสนุน ขอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบรับหลักการ เพื่อนำไปสู่กระบวนการพิจารณารายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับดังกล่าวกันต่อไป เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มีสาระสำคัญที่ก้าวหน้า เปิดประเด็นที่อาจนำไปสู่กาเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในเชิงโครงสร้าง และอาจเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรโดยประชาชนในท้องถิ่นด้วยตนเอง
สาระสำคัญประการแรก คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เสนออย่างชัดเจนให้เดินหน้าไปสู่การยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค อันจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของไทย ลดเหลือ 2 ส่วน คือ ส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น
สาระสำคัญประการที่สอง คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปลี่ยนวิธีการกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากเดิมที่จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เป็นการแบ่งอย่างชัดเจน ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะในระดับท้องถิ่น ยกเว้นเพียง 5 เรื่อง คือ การทหารและการป้องกันประเทศ ความมั่นคงภายใน กิจการระหว่างประเทศ ธนาคารกลางและระบบเงินตรา และบริการสาธารณะอื่นๆ ในภาพรวมของประเทศ เท่านั้น
นอกจากนั้น ภารกิจอะไรก็ตาม ที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้กำหนดให้มีการถ่ายโอนให้ท้องถิ่นแล้ว เมื่อครบตามกำหนดเวลา ก็ให้ถือเป็นภารกิจของท้องถิ่นในทันที
สาระสำคัญประการที่สาม คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพิ่มสัดส่วนงบประมาณที่รัฐบาลกลางต้องจัดสรรให้กับท้องถิ่น เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นสามารถมีงบประมาณเพียงพอ สำหรับการรับภารกิจจำนวนมากซึ่งจะไหลไปสู่ท้องถิ่น อันเนื่องมาจากสาระสำคัญประการที่สอง รวมถึงท้องถิ่นจะสามารถระดมทุนจากการกู้เงินหรือออกพันธบัตร เช่นเดียวกับท้องถิ่นของประเทศที่พัฒนาแล้วได้อีกด้วย
ทั้งนี้ แม้ข้อเสนอเหล่านี้โดยส่วนใหญ่ จะยังต้องเผชิญกับคำถามมากมาย ว่าจะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง หรือจะนำไปสู่ปัญหาภายหลังจากนั้นหรือไม่ เพราะเมื่อพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่าทั้งหมดเป็นความพยายามแก้ไขที่โครงสร้างและกฎระเบียบในระดับของรัฐธรรมนูญ แต่ในหลายส่วน เช่น การทำประชามติในระดับท้องถิ่น หรือการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม เป็นต้น เป็นสิ่งที่โดยหลักการประชาชนมีสิทธิอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ไปติดเงื่อนไขของระเบียบกระทรวงมหาดไทย
หรือแม้แต่ อาจจะยังไม่สอดคล้องนักกับวิถีชีวิตของประชาชนจำนวนมากในปัจจุบัน ที่จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกระบวนการเหล่านี้ เท่าแต่เรื่องราวอันเป็นรายละเอียดในการปฏิบัติเหล่านี้ รวมถึงความกังวลที่เกินเลยซึ่งอาจถูกปลุกปั่นให้เกิดมีขึ้น เช่น การสูญเสียเอกภาพของรัฐ ก็ไม่ได้มีน้ำหนักมากพอ ที่จะกลายมาเป็น
เครื่องขัดความความก้าวหน้า ของกระบนการการกระจายอำนาจให้แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นมานานจนเกินไปแล้วนี้