สัปดาห์นี้มีการประชุมร่วมรัฐสภา มีวาระร้อน ที่สมาชิกรัฐสภา จะได้ร่วมพิจารณาลงมติ นั่นคือ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 มาตรา 249 มาตรา 250 มาตรา 251 มาตรา 252 มาตรา 253 มาตรา 254 เพิ่มเติมมาตรา 254 / 1 มาตรา 254 /2 มาตรา 254 /3 มาตรา 254 / 4 มาตรา 254/ 5 และมาตรา 254 / 6 (ตามที่นายธนาธร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 76,591 คน เป็นผู้เสนอ )
กล่าวโดยสรุป หลักใหญ่ใจความ ของการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีความมุ่งหมายที่จะปลดล็อกการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่ถูกผูกขาดอยู่กับรัฐบาลกลาง
"รายการคมชัดลึก" โดย "วราวิทย์ ฉิมมณี" เป็นผู้ดำเนินรายการ จึงได้เชิญ "นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้ามาร่วมชำแหละและเปิดใจถึงความมุ่งมั่นตั้งใจแก้ไขร่างรธน.ครั้งนี้
"วราวิทย์" หัวใจที่บอกจะปลดล็อกท้องถิ่นถ้าจะอธิบายง่ายๆโดยไม่ใช้ภาษากฎหมาย ทำไมเราถึงต้องปลอดล็อกเรื่องนี้
"ธนาธร" ผมเรียนแบบนี้นะครับ เพื่อให้เข้าใจว่าเวลาเราพูดถึงองค์กรส่วนท้องถิ่น เราหมายถึงองค์กรส่วนท้องถิ่นในระดับจังหวัดเรียกว่าอบจ. แล้วก็ระดับพื้นฐานซึ่งระดับพื้นฐานมีสองแบบก็คือเป็นเทศบาลหรืออบต. ถ้ามีความหนาแน่นของจำนวนประชากรความเป็นเมืองมีการค้าจะเป็นเทศบาล แต่ถ้าพื้นที่ห่างไกลส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตรการเจริญเติบโตเศรษฐกิจไม่เยอะพอก็จะเป็นอบต. ดังนั้นท้องถิ่นพื้นฐานของทุกท่านถ้าไม่ได้อยู่ในกรุงเทพจะมีสองรูปแบบ
ปัญหาของท้องถิ่นวันนี้ คือ เราเริ่มมีการกระจายอำนาจตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 พูดง่ายๆ คือบริการสาธารณะไม่ว่าจะเป็นศูนย์เด็กเล็ก การซ่อมถนนท้องถิ่น บางแห่งมีเรื่องน้ำประปา บางแห่งมีเรื่องสวนสาธารณะ บริการสาธารณะตั้งแต่เราตื่นนอนจนถึงเข้านอนอะไรที่ใกล้ชิดกับเรา อำนาจภารกิจเหล่านี้ถูกโอนถ่ายให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลเพราะเป็นโครงสร้างบริหารที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด
แต่ปัจจุบันก็คืองบประมาณจัดสรรไม่เพียงพอให้อำนาจอย่างไม่เต็มที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศตอนนี้ ให้บริการประชาชนได้อย่างไม่เต็มที่
ปัญหาพวกนี้ทำให้พี่น้องประชาชนไม่ได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วฉับไว ตำบลแต่ละตำบลไม่ได้พัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น เคยได้ยินชาวบ้านพูดหรือไม่ว่า เลือกตั้งมากี่ครั้งก็เหมือนเดิมไม่เคยพัฒนาเลยเคยได้ยินหรือไม่ครับ ก็จะได้รับการพัฒนาได้อย่างไรในเมื่ออบต.ไม่ได้รับงบประมาณไม่ได้รับอำนาจอย่างเหมาะสม
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ของเราพูดง่าย คือ เสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณให้เป็นธรรมระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น จากปัจจุบันภาษีของพวกเราทั้งหมดส่วนกลางได้ไป 70% ท้องถิ่นได้ไป 30% ผมก็จัดสรรใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้แบ่งเป็น 50%-50% เพื่อให้ท้องถิ่นมีงบประมาณเพียงพอที่จะดูแลบริหารสาธารณะพื้นฐานให้กับประชาชน
เรื่องที่สอง เรื่องอำนาจวันนี้ ท้องถิ่นไม่มีอิสระในการบริหารอยากจะพาตำบลนี้ไปทิศทางนี้ก็ไม่ได้ลำบาก อยากจะทำแบบนี้จะถูก สตง.ตรวจสอบ หรือกฎกระทรวงไม่ให้ทำ ติดขัดเยอะแยะไปหมด ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ พูดง่ายๆ คืออำนาจงบประมาณจากส่วนกลางยกไปให้ท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อให้ท้องถิ่นได้ทำบริการสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสกำหนดทิศทางการพัฒนาตำบลของตัวเองชุมชนของตัวเอง
"วราวิทย์" อะไรที่ยังเป็นอำนาจอยู่ที่ส่วนกลางและท้องถิ่นไม่มีอำนาจนั้น
"ธนาธร" ผมยกตัวอย่าง ผมไปช่วยองค์กรส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาระบบประปา ผมเป็นคนกรุงเทพ ผมเปิดน้ำก๊อกที่บ้านน้ำใสไหลตลอด 24 ชั่วโมง แต่วันนี้ในตำบลที่ห่างไกลคิดว่ามีประชาชนเป็นสิบล้านคน ยังไม่สามารถเข้าถึงน้ำประปาที่สะอาดและไหลอย่างเต็มที่ตลอดปีได้
หลายตำบลที่มีลักษณะแบบนี้ อบต.มีงบเพียงแค่ 40-50 ล้านบาทต่อปีหลังจากตัดงบสวัสดิการข้าราชการออกไปแล้ว เหลืองบลงทุนบางแห่ง 4-5 ล้านบาทต่อปีเท่านั้นเอง 4 - 5 ล้านบาทต่อปีต้องเอาไปพัฒนาถนนต้องไปขยายเขตไฟฟ้าเพื่อการเกษตรต้องเอาไปทำเรื่องศูนย์เด็กเล็กเหลือไม่เยอะครับ และถ้าอยากจะสร้างโรงผลิตน้ำประปาที่มีคุณภาพได้อาจจะต้องลงทุนถึง 10 ล้านบาท
คำถามคือจะเอา 10 ล้านบาทจากไหนหรือครับ ครั้นจะเขียนโครงการไปขอกระทรวงต่างๆ ต้องวิ่งเต้นถ้าไม่วิ่งเต้นก็ไม่ได้งบมา ดังนั้นหมายความว่า ตำบลนั้นโอกาสที่จะมีน้ำประปาที่สะอาดแทบจะไม่มีเลยอยู่อย่างนี้ไปทั้งปีทั้งชาติ
ผมยกตัวอย่างอีกที่หนึ่ง มีเทศบาลที่เราทำงานด้วยจังหวัดลำพูนมี 3 หมู่บ้านอยู่บนดอยอยู่พื้นที่ป่า ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ใช้ จะไปบอกให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมไปติดสัญญาณโทรศัพท์ให้หน่อยเพื่อให้ประชาชนมีสัญญาณมือถือใช้ สามารถใช้เน็ตจากมือถือได้ก็ไปติดข้อห้ามของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ที่บอกว่าห้ามตั้งเสาสัญญาณใหม่ หมายความว่าประชาชน 3 หมู่บ้านนั้นทั้งปีทั้งชาติจะไม่ได้ใช้เน็ตจากมือถือ หมายความว่าถ้าอยากใช้เน็ตต้องตายแล้วเกิดใหม่ที่อื่นครับ เห็นมั้ยครับนี้คือกฎระเบียบที่องค์กรส่วนท้องถิ่นรับใช้ประชาชนได้ไม่เต็มที่
เราอยากจะเห็นบ้านเมืองพัฒนาและผมเชื่อว่าเรื่องที่กำลังนำเสนอหลายคนอาจจะไม่เข้าใจ ผมอยากจะอธิบายว่า จะเป็นการปลดปล่อยพลังการผลิตครั้งใหญ่ของสังคมเลย ถ้าถามว่าอยากได้นโยบายเศรษฐกิจใช่มั้ยเนี่ย คือ นโยบายเศรษฐกิจที่ดีที่สุด คือเอาอำนาจเอางบประมาณให้ท้องถิ่นเพื่อปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ ปลดปล่อยคอขวดของการตัดสินใจทั้งหมดที่อยู่ที่กรุงเทพที่อยู่ที่ส่วนกลาง เพราะรัฐราชการที่มันรวมศูนย์ขนาดนี้ มีอำนาจเยอะเกินไปในการตัดสินใจทุกเรื่อง
ผมถามว่า จะมีใครรู้เรื่องแหล่งน้ำในตำบลคุณ ดีเท่ากับพวกคุณอีก จะมีใครอยากเห็นโรงเรียนคุณดีมากกว่าคุณอีก เราที่อยู่ในตำบลเราต้องอยากเห็นตำบลของเราเจริญก้าวหน้า ดังนั้นถ้าเราให้อำนาจและงบประมาณเขาสิ่งต่างๆเหล่านี้มันจะเกิดขึ้น รวดเร็วมากขึ้นการใช้งบประมาณจะมีประสิทธิภาพตรงกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น เมื่องบประมาณเดินเร็วและตรงกับความต้องการเศรษฐกิจมันหมุนครับ
ชมคลิป >>>