27 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา "สำนักเลขาธิการสภาฯ" ออกหนังสือถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร งดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เนื่องจากจะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา และให้นัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 4 ครั้งที่ 9 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ในวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2565 เวลา 09.30 – 19.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ต่อไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุที่ต้องงดประชุมสภาฯ เนื่องจากจะมีการประชุมร่วมรัฐสภา วาระเร่งด่วน เพื่อลงมติ ความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศไทย ภายใต้กรรมสารเจนีวา ค.ศ.1999
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเร่งด่วน วาระที่ 4 เกี่ยวกับ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 มาตรา 249 มาตรา 250 มาตรา 251 มาตรา 252 มาตรา 253 มาตรา 254 เพิ่มเติมมาตรา 254 / 1 มาตรา 254 /2 มาตรา 254 /3 มาตรา 254 / 4 มาตรา 254/ 5 และมาตรา 254 / 6 (ตามที่นายธนาธร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 76,591 คน เป็นผู้เสนอ )
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีวาระสำคัญ ลำดับที่ 5 การพิจารณาเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ฉบับ ครม. เป็นผู้เสนอ ตามที่เป็นประเด็นร้อนทางสื่อมวลชนอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้ การประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ยังเป็นวันที่ตรงกับ"ศาลรัฐธรรมนูญ"นัดวินิจฉัย ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะขัดรธน.หรือไม่ (สูตรหาร 100 หรือ 500 ) อีกด้วย
สำหรับวาระ เกี่ยวกับ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 มาตรา 249 มาตรา 250 มาตรา 251 มาตรา 252 มาตรา 253 มาตรา 254 เพิ่มเติมมาตรา 254 / 1 มาตรา 254 /2 มาตรา 254 /3 มาตรา 254 / 4 มาตรา 254/ 5 และมาตรา 254 / 6 (ตามที่นายธนาธร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 76,591 คน เป็นผู้เสนอนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับ การแก้ไข"ปลดล็อกท้องถิ่น"ให้มีอำนาจบริหารจัดการตนเองได้ ซึ่ง"นายธนาธร" ประธานคณะก้าวหน้า รวมถึง สมาชิก"พรรคก้าวไกล" ได้เดินสายสร้างความเข้าใจยังพื้นที่ต่างๆให้สนับสนุนแนวคิดการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น มากกว่ายึดโยงกับอำนาจรัฐบาลส่วนกลาง
ขณะที่ "นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า ได้แสดงความเห็นผ่านเพจ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ระบุว่า " พวกเราคณะก้าวหน้าจึงได้รณรงค์ #ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น ซึ่งเป็นกิจกรรมเชิญชวนบุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพื่อขจัดอุปสรรคในการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
การกระจายอำนาจเพื่อคืนอำนาจให้ท้องถิ่นและยุติรัฐราชการรวมศูนย์ เป็นกุญแจดอกเดียวที่จะปลดล็อกปัญหา ไม่ใช่แค่รับประกันว่าผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ยังทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจเต็มในการจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ทุกเรื่อง ยกเว้นแค่เรื่องกองทัพ และเงินตรา รวมถึงยังได้เสนอให้มีการแก้ไขปัญหาอำนาจที่ทับซ้อนกันระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยให้ภารกิจการจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่เป็นภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน และเพิ่มอำนาจการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังเสนอให้เพิ่มรายได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีงบประมาณและมีอิสระมากขึ้นในการจัดทำบริการสาธารณะ ตอบสนองความต้องการของประชาชน
เมื่อเป็นเช่นนั้น สามารถ #ปลดล็อกท้องถิ่น ได้ ศักยภาพที่ถูกกดทับอยู่ในพื้นที่ต่างๆ จะถูกระเบิดพลังออกมา เปรียบเหมือนการยกก้อนหินที่กดทับ 77 จังหวัดออกไป ปลดปล่อยประเทศไทยให้พุ่งทะยานไปข้างหน้า
ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่พวกเรารณรงค์รับรายชื่อจากประชาชนทั่วประเทศ จัดเวทีรณรงค์ใน 30 จังหวัด มีประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพวกเราทั้งสิ้น 80,772 รายชื่อ และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบรายชื่อ มีเอกสารครบถ้วน จำนวน 76,591 รายชื่อ
ทั้งหมดนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า มีประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารราชการของประเทศ อยากเห็นการกระจายอำนาจที่สมบูรณ์เกิดขึ้นในประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นการหาข้อตกลงร่วมกันจากประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นเรื่องประโยชน์ของการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และต่อประเทศไทย
ขณะนี้ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เรียบร้อยแล้วและกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2565 ผมจึงขอให้พี่น้องประชาชน รวมถึงนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาฯ และข้าราชการท้องถิ่นทุกท่าน ช่วยกันรณรงค์ และส่งเสียงเรียกร้องไปยังสมาชิกรัฐสภา ให้ลงคะแนนรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้
หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้สำเร็จ คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่นายกฯท้องถิ่น ไม่ใช่ข้าราชการท้องถิ่น แต่คือประชาชนคนไทยทั้ง 77 จังหวัด ที่จะได้ปลดปล่อยศักยภาพของท้องถิ่นตัวเอง พาประเทศไทยไปให้ไกลกว่านี้ ก้าวหน้า และก้าวไกลกว่านี้