svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“สุทิน" หวัง ศาล รธน. ชี้ กม.เลือกตั้ง ไม่ขัด รธน. เปิดทาง ลต.

เพื่อเปิดทางเลือกตั้ง! "สุทิน" หวัง ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาด พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ห่วงเรื่องกรอบเวลา หากศาลตีกลับให้ปรับแก้

25 พฤศจิกายน 2565 นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาดร่างพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ โดยระบุว่า ไม่ว่าคำตัดสินของศาลจะออกมาอย่างไร จะเกิดผลทางการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งนำบ้านเมืองไปสู่ทางตันและทางโล่ง แต่ก็น้อมรับคำตัดสิน โดยหวังว่า อยากให้ชาติบ้านเมืองเดินหน้าไปได้เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีขึ้น โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่กำลังรอกฎหมายเลือกตั้ง  ซึ่งหากผลคำตัดสินทำให้การเลือกตั้งสะดุดหยุดลง รัฐสภาก็ต้องออกแรงกันมาก ซึ่งได้แต่หวังว่า ผลคำวินิจฉัยจะเป็นไปในทางที่ดี
“สุทิน\" หวัง ศาล รธน. ชี้ กม.เลือกตั้ง ไม่ขัด รธน.  เปิดทาง ลต.
ทั้งนี้หากว่าศาลสั่งให้มีการแก้ไขเนื้อหาในบางมาตรา เชื่อว่าระยะเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐสภาหวุดหวิด และไม่ง่าย ซึ่งต้องดูประเด็นการชี้ของศาล ว่าเป็นปัญหา ที่กระดุมเม็ดแรกคือรัฐธรรมนูญ หรือกระดุมเม็ดที่สอง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

หากเป็นปัญหาที่กระดุมเม็ดสอง เชื่อว่าจะสามารถเร่งรัดให้แก้ได้ในห้วงเวลาที่เหลืออยู่ แต่รัฐสภาก็ต้องให้ความร่วมมือกัน  หรือหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าเป็นปัญหาที่กระดุมเม็ดแรก เป็นห่วงว่าอาจจะใช้ระยะเวลาในการแก้ไข  ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกนั้นไม่สามารถที่จะพิจารณา 3 วาระรวดพร้อมกันได้ เนื่องจากมีกรอบขั้นตอนตามกฏหมายอยู่

พร้อมห่วงว่าท้ายที่สุดแล้วผลวินิจฉัยชี้ขาด แม้ศาลจะไม่ได้ชี้ว่ามีปัญหาที่กระดุมเม็ดแรกแต่ก็อาจทำให้คนคิดวิเคราะห์ตีความได้ว่า มีปัญหาที่กระดุมเม็ดแรก และจะทำให้การนำไปสู่การแก้กระดุมเม็ดแรกก็จะยุ่งไปกันใหญ่ ขณะเดียวกันหากแก้ที่ตัวกฎหมายลูกก็ยอมรับว่ายุ่งยากเนื่องจากอาจจะมีระยะเวลาไม่เพียงพอ

แต่หากท้ายที่สุดศาล รัฐธรรมนูญชี้ว่าร่างกฏหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่าเป็นทางที่โล่ง ซึ่งถือว่าสมบูรณ์แล้ว ในการมีกฎหมายหรือกลไกในการจัดการเลือกตั้ง หากยุบสภาหรือเกิดอะไรขึ้น ก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้เลย และเชื่อว่าจะเป็นกฎหมายที่ทุกคนให้ความยอมรับ หลังจากเกิดความเห็นต่างในการพิจารณาของรัฐสภา ข้อเห็นต่างก็จะได้ข้อยุติลง