svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เพื่อไทย ปูดเบื้องหลัง"สภาล่ม"ประเดิมความวุ่น หลังเสร็จสิ้นประชุมเอเปค

23 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เพื่อไทย"เผยสภาฯล่ม เพราะมี ส.ส.โดดประชุมไปเช็คชื่อที่บ้านป่ารอยต่อฯ สะท้อนสภาวะว่ารัฐบาลไปต่อยาก เรียกร้องนายกฯยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน

 

23 พฤศจิกายน  2565   "นายสมคิด เชื้อคง" ,นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ,นางสวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์,นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร และนายพรเทพ  วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ส.ส.พรรคเพื่อไทย ร่วมแถลง กรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน ล่มระหว่างการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

 

โดย"นายจุลพันธ์" กล่าวว่า การประชุมสภาฯหลังเอเปค เปิดมาวันแรกก็เกิดเหตุการณ์สภาฯล่ม เป็นสัญญาณบ่งชี้ทางด้านการเมืองที่สะท้อนถึงเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่สามารถรักษาองค์ประชุมได้ โดยอ้างว่ามีการเช็คชื่อส.ส.ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ ซึ่งฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กรรมาธิการได้แก้ไข  เพราะมีการเปลี่ยนไปจากหลักการเดิม โดยเฉพาะการที่ให้ประชาชนเข้าชื่อถอดถอน  ก็จะทำให้ผู้ที่ถูกถอนนั้นถูกหลุดออกจากตำแหน่ง โดยไม่มีกระบวนการลงมติ หรือการตรวจสอบใดๆ ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีความกังวล 

 

 

"นายจุลพันธ์" กล่าวต่อไปว่า  เมื่อกระบวนการดำเนินการมาถึงการพิจารณามาตรา  9/1 ซึ่งเป็นการสงวนคำแปรญัตติของกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่กำหนดว่า "หลังจากที่มีการเข้าชื่อถอดถอนกันแล้ว ให้มีกระบวนการเข้าสู่การลงมติของประชาชนในพื้นที่ เพื่อที่จะให้ถอดถอนได้ ไม่ใช่เพียงแค่การเข้าชื่อให้ครบจำนวน 5,000 ชื่อ แล้วจะทำให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นรายนั้นหลุดออกจากตำแหน่ง  

 

"ประธานสภาที่ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมมีการถามคำถามชัดเจน  เชื่อว่าทุกคนทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลมีความเข้าใจ  แต่เมื่อมีการลงมติรอบแรกผลคะแนนให้มีการเพิ่มมาตรา 9/1 ซึ่งถือว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ฝ่ายค้านชนะการโหวตในสภาฯ แต่กลับมีการท้วงติงจากสมาชิกบางคน โดยอ้างอิงว่าเข้าใจในคำถามผิด แล้วประธาน  เปิดให้โหวตว่าจะลงมติใหม่หรือไม่ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" นายจุลพันธ์ กล่าว  

 

 

ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อไปว่า  สุดท้ายเสียงข้างมากในสภาฯใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง กว่าองค์ประชุมจะเพียงพอในการลงมติ ว่าให้กลับไปโหวตใหม่ได้  แต่ฝ่ายค้านคัดค้านไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่ากระบวนการไม่ชอบ จึงไม่ขอร่วมเป็นองค์ประชุมในการโหวตรอบใหม่ และทักท้วงว่าเป็นการริดรอนสิทธิของพรรคการเมืองเสียงข้างน้อย ที่นานๆจะชนะหมด แต่มีการลงมติมาปล้นชัยชนะคืน จึงยอมไม่ได้ จากนั้นมีการตรวจสอบองค์ประชุมในเวลา 14:00 น. เพื่อที่จะลงมติใหม่ในมาตรา  9/1 แต่สุดท้ายองค์ประชุมไม่ครบ การประชุมต้องล่มและปิดไป

 

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะมีข่าวทางพรรคร่วมรัฐบาลจะชื่นมื่นหรือมีความปรองดอง ใน คณะรัฐมนตรี (ครม.) และจะลาก ครม. ไปจนถึงครบเทอม แต่เมื่อประเมินสภาวะในสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้ เชื่อว่าสภาจะเดินต่อลำบาก จึงเรียกร้องไปยัง"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา"  นายกรัฐมนตรีว่าหมดเวลาฮันนีมูน ขอให้"ยุบสภา" คืนอำนาจให้ประชาชน

logoline