svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เทียบการประชุมเอเปค-G20 … ไทยได้หรือเสียรู้?

19 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หวนมาบรรจบอีกครั้งกับไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ 21 ประเทศ หรือ เอเปค โดยเฉพาะท่ามกลางหลายฝ่ายจับจ้องถึงโอกาส ที่จะผลักดันให้ประเทศ กลับมาผงาดในภูมิภาคอาเซียนอีกครั้ง เพื่อผ่านมรสุมพิษเศรษฐกิจรวมถึงโควิด-19

โดย "ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ได้สะท้อนการประชุม G20 และการประชุมเอเปค ส่งผลต่อประเทศให้ได้ประโยชน์อย่างไร ผ่าน "เนชั่นทีวี" ว่า 

 

เทียบการประชุมเอเปค-G20 … ไทยได้หรือเสียรู้?

 

คำตอบ… "ฟันธง…การที่ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปค สร้างมูลค่าทางภาพลักษณ์และผลประโยชน์ชาติมากกว่า"

 

ประการแรก ...นับเป็นโอกาสพิเศษที่เวทีใหญ่ของผู้นำประเทศระดับโลกสองอีเวนท์ได้จัดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย ในการประชุม G20 และไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค ทำให้ผู้นำโลกทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ต่างจับจ้องมาที่ภูมิภาคอาเซียน ว่ามีความสำคัญขนาดไหน ถึงสามารถจัดอีเวนท์ใหญ่สองอีเว้นท์ห่างกันได้ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์

 

นอกจากนี้ ประเทศที่ถูกเลือกให้จัดก็ คือ ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับหนึ่งและอันดับสองของอาเซียน คือ อินโดนีเซียและประเทศไทย หมายความว่า ไม่ว่าผู้นำชาติมหาอำนาจจะมาครบหรือไม่ครบในเวทีใดก็ตาม แต่พลังของความเป็นอาเซียนผ่านอินโดนีเซียและไทย ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่จุดหมายสำคัญของเศรษฐกิจโลกใบนี้อย่างแท้จริง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจย่อมเกิดขึ้นกับอาเซียนซึ่งไทยก็อยู่ในนี้

รศ.ดร.เชษฐา ยกตัวอย่างกรณีประเทศไทยแม้ว่าประธานาธิบดีไบเดน จะไม่ได้มาประชุมเอเปค แต่การส่งรองประธานาธิบดี คือ "นางแคมิลล่า แฮร์ริส" มาร่วม ก็ถือว่าไม่น้อยหน้ากว่ากันมากนัก เพราะอย่าลืมว่านางแคมิลล่า เป็นบุคคลที่ถูกจับตาและได้รับความนิยมในกระแสการเมืองโลก ว่ามีโอกาสเป็นผู้นำอเมริกาหญิงผิวสีคนแรกได้เช่นกัน

 

ดังนั้น เวทีเอเปคที่ไทยจัดจึงถือว่าเป็นการเปิดตัวประเทศอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากโลกง่อยเปลี้ยเสียขาประสบกับวิกฤตการณ์โควิดตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงถือว่าการที่อินโดนีเซียและไทยเป็นเจ้าภาพเวทีผู้นำโลกที่สำคัญสองเวทีนี้ ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผลประโยชน์ชาติของตนมากกว่าเสียประโยชน์อย่างแน่นอน

ประการต่อมา…ความสำคัญของการประชุมเวทีผู้นำระดับโลกเช่นนี้ อีกมุมหนึ่งอยู่ที่ประเทศเจ้าภาพ ได้มีโอกาสพูดคุยและเจรจาระดับทวิภาคีร่วมกับชาติเป้าหมายที่ต้องการ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ฯลฯ ซึ่งไม่บ่อยครั้งนักที่การเจรจาระดับทวิภาคีกับชาติมหาอำนาจสำคัญทั้งทางการเมืองโลกและทางเศรษฐกิจจะอยู่ในประเทศไทย

 

"ประเทศไทยจึงอยู่ในฐานะได้เปรียบในการพูดคุยและเจรจาระดับทวิภาคีกับชาติเป้าหมายที่เป็นมหาอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจบนผืนแผ่นดินของตัวเอง บรรยากาศและความเกรงอกเกรงใจย่อมเกิดขึ้นมากกว่า การที่ไทยจะไปเจรจาบนแผ่นดินของประเทศอื่น ผลประโยชน์แห่งชาติย่อมเกิดขึ้นกับประเทศไทย"

 

ขณะเดียวกัน ที่สำคัญการพูดคุยของไทยกับประเทศมหาอำนาจในช่วงเวลาเดียวกัน หรือแทบจะพร้อมๆ กัน อย่าง สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส รัสเซีย และอื่นๆ นั้น ย่อมหมายความว่าประเทศไทยสามารถกำหนดวาระ หรือ (agenda) แบบภาพใหญ่ ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด แล้วดูว่าเป้าหมายใหญ่ที่ไทยวางไว้ในการยกระดับประเทศนั้น จะต้องเจรจาขอความร่วมมือระดับทวิภาคีกับชาติมหาอำนาจแต่ละชาติในเรื่องใดบ้าง แล้วจึงไล่พูดคุยกันแบบทวิภาคีกับชาติมหาอำนาจในคราวเดียวกัน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำประเด็นที่ได้พูดคุยกับชาติมหาอำนาจเหล่านั้นมาต่อจิ๊กซอว์กันตามเป้าหมายใหญ่ที่ไทยวางไว้ จึงเท่ากับเสริมเป้าหมายที่ไทยต้องการยกระดับประเทศให้ก้าวกระโดดไปได้ง่ายขึ้น เพราะองคาพยพของชาติมหาอำนาจต่างๆ ที่ไทยได้เจรจานั้นจะสอดคล้องต้องกันกับเป้าหมายใหญ่ที่ไทยจะผลักดัน ดังนั้น การเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคบนผืนแผ่นดินไทยย่อมเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง

 

…แต่นั่นหมายความว่ารัฐบาลไทยต้องทำให้เป็น อย่าให้เสียของ เพราะเสียดายโอกาสของประเทศ

logoline