svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ไอติม พริษฐ์"ชู 4 เป้าหมายเปลี่ยนประเทศสู่ประชาธิปไตยผ่านคน 2 ยุค

14 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พริษฐ์ วัชรสินธุ"หวังคน 2 รุ่นจากยุค 14 ตุลา สู่คนรุ่นใหม่ เดินหน้าต่อ 4 เป้าหมาย เพื่อสร้างประชาธิปไตยแท้จริงให้เกิดขึ้นในไทย

14 ตุลาคม 2565 มูลนิธิ 14 ตุลา จัดงานรำลึก 14 ตุลา ประจำปี 2565 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โดย "นายพริษฐ์ วัชรสินธุ" ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ "14 ตุลา 16 ปลดปล่อยพลัง สร้างสรรค์สังคมไทยได้แค่ไหน" ว่า 14 ตุลา อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่สามารถกำจัดระบบทรราช อย่าง ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ออกไปจากระบบการเมืองไทยได้ก็จริง

 

\"ไอติม พริษฐ์\"ชู 4 เป้าหมายเปลี่ยนประเทศสู่ประชาธิปไตยผ่านคน 2 ยุค

 

ทั้งนี้ แต่ 3 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา กลับเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง 6 ตุลา 2519 โดยเหตุการณ์นี้เป็นเสมือนการล้างไพ่ประชาธิปไตยไทย ให้ถอยกลับไปอยู่จุดเดิม หรือแย่กว่าเดิม ซึ่งคนรุ่นใหม่ในเหตุการณ์ 14 ตุลา กับคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน เติบโตมาในโลก ที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกัน 

 

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป้าหมายและความตั้งใจของคนยุค 14 ตุลา มีภารกิจหลายส่วน ที่สอดคล้อง กับความฝันของคนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน แต่ยังไม่สำเร็จถึงฝั่ง และยังต้องอาศัยพลังและเจตจำนงของคนทั้ง 2 รุ่น ในการร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป 

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า เป้าหมายที่หนึ่ง คือ การร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย – แม้เหตุการณ์ 14 ตุลา ได้นำมาสู่รัฐธรรมนูญ ปี 2517 แต่กระบวนการจัดทำ ยังคงไม่ได้มีส่วนร่วมของตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และเป็นฉบับที่มีอายุเพียง 2 ปี ก่อนถูกฉีกโดยคณะรัฐประหาร

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยยังคงอยู่ภายใต้ธรรมนูญปี 2560 ซึ่งถูกเขียนโดยคณะรัฐประหาร มีวัตถุประสงค์ในการสืบทอดอำนาจ และมีเนื้อหาที่ขัดกับหลักสากล จึงต้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับโดยประชาชน ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง

 

ส่วนเป้าหมายที่สอง คือ การขับเคลื่อนประชาธิปไตยในเชิงวัฒนธรรม ที่ไปไกลกว่าการกำจัดผู้นำเผด็จการ แม้ 14 ตุลา จะเป็นหมุดหมายสำคัญทางการเมืองไทย ที่ภาคประชาชนรวมกันแสดงตัวเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล แต่ก็เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ทำให้เห็นว่าการตื่นตัวของประชาชนไม่สามารถนำไปสู่ชัยชนะที่ยังยืนของประชาธิปไตยเสมอไป

 

"ตราบใดที่เรายังไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่แข็งแรงให้เกิดขึ้นในระดับความคิด และกำจัดวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมในทุกอณูของสังคม ตั้งแต่ระบบราชการ ยันระบบการศึกษา เพื่อสร้างโครงสร้างและวัฒนธรรม ที่อยู่บนฐานของการไว้วางใจประชาชน" นายพริษฐ์ กล่าว

สำหรับเป้าหมายที่สาม คือ การปฏิรูปกองทัพให้เป็นของประชาชน ซึ่งในการเคลื่อนไหวเมื่อ 49 ปีที่แล้ว ประชาชนมีความต้องการนำเผด็จการทหารออกจากการเมือง แต่หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ประเทศยังไม่ได้หลุดพ้นจากระบบการเมืองที่กองทัพเข้ามาแทรกแซงจนถึงยุคปัจจุบัน การปฏิรูปกองทัพให้อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน จึงเป็นวาระเร่งด่วน

 

"ตั้งแต่การทำให้กองทัพแยกขาดจากการเมืองโดยกำหนดไม่ให้นายพลเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี จนกว่าจะเกษียณไปแล้วหลายปี การลดบทบาทและอำนาจของสภากลาโหม การทำให้กองทัพโปร่งใสถูกตรวจสอบได้โดยประชาชน และการสร้างกองทัพที่เท่าทันกับโลก โดยไม่มีสิทธิพิเศษเหนือพลเรือน" นายพริษฐ์ ระบุ

 

ขณะเดียวกัน เป้าหมายที่สี่ คือ การทลายระบอบอุปถัมภ์ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ที่เคยเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงก่อน 14 ตุลา ที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้กำมือของเครือข่ายสามทหาร และยังคงเป็นปัญหามาถึงยุคนี้ ที่เต็มไปด้วยการบริหารราชการแบบรวมศูนย์ และการขยายตัวของกลุ่มทุนผูกขาด การวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่มุ่งให้เกิดการแข่งขันโดยปราศจากระบบอุปถัมภ์ และการวางโครงสร้างทางการเมืองที่มุ่งกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จึงเป็นภารกิจที่ยังไม่เสร็จและต้องสานต่อในยุคปัจจุบัน

logoline