svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ปรับครม.-เศรษฐกิจไทยยุบพรรค"แรงกดดัน"บิ๊กตู่"สั่นสะเทือนการเมือง

09 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การเมืองเวลานี้โดยเฉพาะเข้าสู่ช่วงปลายอายุรัฐบาล ก่อนสู่โหมดเลือกตั้ง ยิ่งสร้างแรงกดดันต่อ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ทั้งมาจากภายในและนอกรัฐบาล

 

แรงกดดันที่ว่า อย่างแรก คือ การปรับ ครม. ซึ่งในวันที่ 12 ต.ค.นี้ "พรรคประชาธิปัตย์" จะมีประชุมกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. เพื่อขอมติว่าจะส่งใครนั่งเก้าอี้ รมช.มหาดไทย แทน "นิพนธ์ บุญญามณี" รองหัวหน้าพรรค และผู้อำนวยการเลือกตั้ง ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้

 

วาระประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ เท่ากับเป็นแรงบีบส่งถึง "พล.อ.ประยุทธ์" กลายๆ เพราะตามมารยาทของการที่เป็นรัฐบาลผสม นายกฯจะไม่ปรับ ครม. ให้พรรคร่วมรัฐบาลที่แสดงความจำนงค์ไม่ได้ และถ้าจะยื้อเวลานานเกินไป ก็ไม่ส่งผลดีกับความสัมพันธ์ในพรรคร่วมรัฐบาล ยิ่งเฉพาะในช่วง"พรรคพลังประชารัฐ"ต้องการพันธมิตรสู้ศึกเลือกตั้ง

 

ขณะที่ฟากฝั่งประชาธิปัตย์ ต้องการปรับรัฐมนตรีในโควตาของตัวเอง ตามยุทธศาสตร์เตรียมรับเลือกตั้ง โดยมีข่าวจะส่ง "นริศ ขำนุรักษ์" ส.ส.พัทลุง นั่ง รมช.มหาดไทย เพื่อหวังตีโต้กลับ "บ้านใหญ่เมืองลุงจากภูมิใจไทย" คือ "นาที รัชกิจประการ" ซึ่งคราวที่แล้วหักด่านพรรคเก่าแก่ ชิงเก้าอี้ผู้แทนฯพัทลุงมาได้ 2 จาก 3 เก้าอี้

 

ทำเอาพรรคประชาธิปัตย์เสียหน้า งานนี้จึงส่ง "นริศ" นั่งรัฐมนตรีหวังตัดไม้ข่มนาม"พรรคภูมิใจไทย" อีกทั้ง "นริศ" ยังเป็น ส.ส.มุสลิม จึงน่าจะได้เสียง "ต้านกัญชา" จากในคนในพื้นที่ และคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พรรคประชาธิปัตย์หมายมั่นปั้นมือไว้เหมือนกัน

 

ทั้งนี้ หาก "ลุงตู่" ตัดสินใจปรับ ครม. ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะถูกพรรคพลังประชารัฐ บีบให้ปรับด้วย เพราะมีตำแหน่งว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง จากการปลด "ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า" พ้นรมช.เกษตรฯ และ "อาจารย์แหม่ม" หรือ "นฤมล ภิญโญสินวัฒน์" จากตำแหน่ง รมช. แรงงาน ตั้งแต่เดือน ก.ย.ปีที่แล้ว

 

ดังนั้น หากมีการปรับ ครม.ในโควตาพลังประชารัฐ จะส่งผลกระทบภายในพรรคตามมาแน่ เพราะ

 

1.กลุ่มก๊วนต่างๆ แย่งชิงเก้าอี้ ทั้งกลุ่ม ส.ส.ใต้ ซึ่งมี 14 เสียง บวกอีก 1 เสียง คือ "ธนกร วังบุญคงชนะ"  ส.ส.บัญชีรายชื่อ ป้ายแดง ซึ่งออกตัวว่าเป็น "คนใต้" จึงอยู่กลุ่ม ส.ส.ใต้ด้วย นอกจากนั้น ยังมีกลุ่ม กทม. ที่เก้าอี้รัฐมนตรีหายไปจากการปรับครั้งก่อน กรณีรัฐมนตรีสาย กปปส. พ้นเก้าอี้เนื่องจากโดนคดี

 

และยังมี "กลุ่มปากน้ำ" ที่ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไปรับปากเอาไว้ แต่ถ้าให้เก้าอี้กับกลุ่มปากน้ำ ก็อาจขัดใจ "พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา" รมว.มหาดไทย เนื่องจาก "กลุ่มปากน้ำ" โหวตสวน "บิ๊กป๊อก" ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อช่วงเดือนก.ค. 65

 

2.ปรับแล้วไม่พอใจ อาจเป็นเหตุให้ ส.ส.บ้านใหญ่ หรือกลุ่มก๊วนบางกลุ่มไขก๊อกย้ายซบพรรคอื่น ซึ่งบางกลุ่มอาจอยากทิ้งพรรคอยู่แล้ว เพียงแต่รอหาเหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอเท่านั้น 

 

3.ความต้องการของ "บิ๊กตู่" กับ "บิ๊กป้อม" ไม่ตรงกัน สุ่มเสี่ยงเพิ่มความขัดแย้ง เช่น กรณีกลุ่มปากน้ำ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

 

ประเด็นที่สอง ซึ่งกำลังจะเป็นแรงกดดันส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ คือ การประชุมใหญ่พรรคเศรษฐกิจไทย ในวันที่ 10 ต.ค.นี้ และอาจจะสงสัยการประชุมใหญ่ของเศรษฐกิจไทย มาเกี่ยวอะไรกับ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ

 

โดยเรื่องนี้ "เนชั่นทีวี" ได้ข้อมูลมาล่าสุดว่า การประชุมใหญ่พรรคเศรษฐกิจไทย แว่วว่าเตรียมจะ"ยุบพรรค" แล้วไปควบรวมกับพรรคหลักอื่น โดยมี 2 ทางเลือก คือ กลับ"พรรคพลังประชารัฐ" หรือไปร่วมกับ"พรรคเพื่อไทย"

 

เพราะหากยุบพรรคเพื่อควบรวมตาม "ไพบูลย์โมเดล" ไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภา ควบรวมกับพรรคการเมืองอื่นในอายุของสภาผู้แทนราษฎร แนวทางของเศรษฐกิจไทย ก็อาจทิ้งพรรคให้ร้าง แล้วลาออก เพื่อย้ายพรรคไปเข้าสังกัดพรรคหลักพรรคอื่น ซึ่งก็จะต้องพ้นตำแหน่ง ส.ส.ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

 

ไม่ว่าจะเลือกแนวทางไหน แต่ตัวเลือกพรรคใหม่ที่จะไปสังกัดยังมี 2 ทางเลือกเหมือนเดิม

 

สำหรับปลายทางของพรรคเศรษฐกิจไทย คือ ยุบแน่ ซึ่งถอดรหัสจากคำให้สัมภาษณ์ของ "บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ มือขวาของ "ผู้กองธรรมนัส" โดยมีน้ำหนักไปพรรคเพื่อไทย มากกว่าพลังประชารัฐ

 

รหัสสัญญาณที่ถอดได้ "เราจะย้ายไปอยู่ที่ไหนกับใคร หรือจะปรับโครงสร้างอย่างไร ต้องรอดูในการประชุมพรรค วันที่ 10 ต.ค.นี้ก่อน" 

 

เมื่อเจาะลึกลงไป พบว่า มี 3 แนวทาง คือ

 

1.เศรษฐกิจไทยยังสามารถขับเคลื่อนไปต่อ

 

2.หากจะกลับไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ต้องพิจารณาเงื่อนไขหลายอย่าง หากยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่สามารถกลับไปได้ เพราะมีวาระทำงานถึงแค่ปี 2568  

 

3.ส่วนจะย้ายไปเพื่อไทย ก็คงต้องคุยกันอีกครั้ง 

 

เมื่อฟังแล้วแบบนี้ชัดยิ่งกว่าชัด แนวทางแรก คือ ทำพรรคเศรษฐกิจไทยต่อ ดูจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากการทำพรรคในกติกา บัตร 2 ใบ หาร 100 ต้องใช้ทุนมาก และกติกาไม่เอื้อกับพรรคเล็กเลย ประกอบกับ ส.ส.เศรษฐกิจไทย สายงูเห่า ไปเปิดตัวที่งานวันเกิด "บิ๊กเน" หรือ "เนวิน ชิดชอบ" ครูใหญ่ภูมิใจไทยแล้วถึง 3 คน ทำให้โอกาสเป็นพรรคขนาดกลาง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง เป็นไปได้ยาก ฉะนั้นการยุบพรรค หรือทิ้งพรรคร้าง แล้วอพยพไปพรรคหลักพรรคอื่น จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยคำตอบสุดท้ายมีเพียงจะกลับพลังประชารัฐ หรือไปเพื่อไทย เท่านั้นเอง

 

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดกับ "พล.อ.ประยุทธ์" คือ

 

1.ถ้ากลับพลังประชารัฐ แปลว่า "พี่ใหญ่" ลอยแพ "น้องเล็ก" เพราะรู้กันดีว่า "บิ๊กตู่" กับ "ผู้กอง" ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ ฉะนั้นถ้ามีชื่อ "ผู้กอง" กลับพลังประชารัฐ แปลว่า "บิ๊กตู่" วางมือทางการเมือง หรือไม่ก็ต้องไปหาพรรคอื่นเสนอชื่อเป็นแคนดิเดต หรือ หากมองแง่ดี 3ป.อาจตกลงกันแล้วให้เป็นแบบนี้

 

ขณะเดียวกัน กลุ่ม 6 รัฐมนตรี ซึ่งวันนี้ยังเหลืออยู่กับนายกฯบ้าง เช่น "กลุ่มเสี่ยเฮ้ง" สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน "กลุ่มเสี่ยโอ๋" ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส คงต้องย้ายพรรคตามนายกฯ อยู่ต่อไม่ไหว เพราะเคยขัดแย้งกับ"ผู้กองธรรมนัส"ค่อนข้างรุนแรง

 

2.ถ้ากลุ่มผู้กองไปพรรคเพื่อไทย ก็จะยิ่งทำให้เพื่อไทยมีโอกาสแลนด์สไลด์มากขึ้น และดับฝันพลังประชารัฐ ที่จะรักษาสถานะพรรคใหญ่ที่เป็นคู่แข่งกับเพื่อไทยเอาไว้ หนำซ้ำภารกิจใต้ดินที่มีข่าว "คนแดนไกล" จะมอบให้ผู้กองธรรมนัส ก็คือ สกัดพรรคกัญชาทุกเขต ทุกพื้นที่ ใช้ได้ทุกวิธี ทั้งชกเหนือเข็มขัด ใต้เข็มขัด

 

ที่น่าหนักใจยิ่งกว่านั้นก็คือ การขยับของพรรคเศรษฐกิจไทยหนนี้ โดยเฉพาะหากไปช่วยเสริมแกร่งให้เพื่อไทย โอกาสที่กลุ่มก๊วนบ้านใหญ่ในพลังประชารัฐจะทยอยไขก๊อกมีสูง และมีโอกาส "แพแตก" หากยิ่งปรับ ครม. แล้วไม่โดนใจ ยิ่งกลายเป็นสาเหตุให้ "กลุ่มบ้านใหญ่" ตีจาก ทั้งสามมิตร ทั้งกลุ่มปากน้ำ สุดท้ายก็วนมาเป็นแรงกดดันที่ตัวนายกรัฐมนตรีนั่นเอง

logoline