svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"30 ก.ย."ส่องแนวทางศาลรธน.ชี้ปมวาระ 8 ปี "ประยุทธ์" โอกาสพลิกโฉมการเมือง

29 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"30 ก.ย." เป็นวันที่"ศาลรัฐธรรมนูญ" นัดอ่านคำวินิจฉัย ปมการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี จะครบเมื่อใด มีผลไปถึง"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" จะได้ไปต่อหรือพอแค่นี้ และแนวทางคำวินิจฉัยจะเป็นอย่างไร

 

ปฏทินการเมืองขยับเข้าใกล้ "30 ก.ย.65"ทางราชการคือวัน"เกษียณอายุข้าราชการ"  แต่สำหรับ"พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา" อาจกล่าวได้ว่าเป็นวันเกษียณราชการในตำแหน่ง"นายกรัฐมนตรี"ไปพร้อมกันหรือไม่ เพราะ"ศาลรัฐธรรมนูญ" นัดหมายอ่านคำวินิจฉัย ปมวาระดำรงตำแหน่ง "นายกฯ ครบ 8 ปี" เมื่อใดกันแน่ ตามที่สมาชิกรัฐสภาพรรคร่วมฝ่ายค้านเข้าชื่อยื่นคำร้องเข้ามาให้วินิจฉัย 

 

ย้อนดูเส้นทางแห่งคดี เริ่มต้นจาก ข้อถกเถียงในหมู่นักวิชาการทางรัฐธรรมนูญ ลามมาถึงฟากฝั่งนักการเมืองเกี่ยวกับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ"พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา" ครบ 8 ปี เมื่อใดกันแน่จนเป็นเหตุให้สมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านเข้าชื่อยื่นประธานสภา นายชวน หลีกภัย ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 

 

"30 ก.ย."ส่องแนวทางศาลรธน.ชี้ปมวาระ 8 ปี "ประยุทธ์" โอกาสพลิกโฉมการเมือง

 

นับเนื่องจากวันที่ 17 ส.ค. 65  วันที่สำนักเลขาธิการสภาฯส่งเรื่องให้"ศาลรัฐธรรมนูญ" มีการประชุมพิจารณารับคำร้อง พร้อมกับมติเสียงข้างมาก ให้"พล.อ.ประยุทธ์"  หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่า"ศาลรธน."จะมีคำวินิจฉัย ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจง ตรวจรับพิจารณา กระทั่งศาลรธน.เห็นว่าสิ้นสงสัยกระบวนความ จึงได้นัดอ่านคำวินิจฉัยศาลรธน. ในวันที่ 30 ก.ย.65 เวลาประมาณ 15.00 น.  

 

สิริรวมเวลาของการพิจารณาคดีนี้ เกือบสองเดือน ที่ศาลรธน.เตรียมคำตอบส่งตรงถึงผู้ถูกร้อง นั่นคือ "พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา" จะได้บริหารประเทศต่อ หรือต้องสิ้นสุดการทำหน้าที่ "นายกฯ 8 ปี" และสิ้นสุด ณ วันใดกันแน่ ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ 

 

 

คาดการณ์กันว่า แนวทางการวินิจฉัยของ"ศาลรัฐธรรมนูญ" ออกได้ 2 แนวทาง ประกอบด้วย "ได้ไปต่อ" หรือ "พอแค่นี้" 

 

กรณี"ได้ไปต่อ" หมายความว่า "พล.อ.ประยุทธ์" จะได้กลับมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ต้องดูรายละเอียดคำวินิจฉัยศาลรธน. ว่า จะนับการดำรงตำแหน่งอย่างไร ตั้งแต่ 1.รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ เมื่อ 6 เม.ย.2560 หรือ 2.นับตั้งแต่ได้รับโปรดเกล้าฯ โดยเริ่มวันที่ 9 มิ.ย.2562 

 

"30 ก.ย."ส่องแนวทางศาลรธน.ชี้ปมวาระ 8 ปี "ประยุทธ์" โอกาสพลิกโฉมการเมือง

 

การให้นับการดำรงตำแหน่งในปี 2560 โดยจะครบวาระ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญในวันที่ 5 เม.ย.2568 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า หรือกรณีนับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2562 จะทำให้"พล.อ.ประยุทธ์" อยู่ยาวเป็นนายกรัฐมนตรีจนครบวาระในวันที่ 8 มิ.ย.2570 

 

ทั้ง 2 กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อ "พล.อ.ประยุทธ์" ได้รับเลือกไปดำรงตำแหน่ง"นายกรัฐมนตรี"ในการเลือกตั้งสมัยหน้าอีกครั้ง

 

ถึงกระนั้น  ผลจากการได้ไปต่อ อย่างน้อยมีภารกิจอันแสนภาคภูมิใจที่จะเกิดขึ้นกับ"พล.อ.ประยุทธ์" ในฐานะนายกรัฐมนตรีเต็มขั้น โดยไม่ต้องรอลุ้นว่าจะได้กลับมาเป็นนายกฯจากการเลือกตั้งสมัยหน้าหรือไม่ นั่นคือ การได้เป็นผู้นำไทยคอยต้อนรับบรรดาผู้นำชาติต่างๆในการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก 2022 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.2565

 

คราวนี้มาที่ ผลคำวินิจฉัย "ไม่ได้ไปต่อ" ปิดฉากอวสานนายกฯ  กล่าวคือ  "พล.อ.ประยุทธ์"  เป็นนายกฯ มาครบ 8 ปี ตั้งแต่ 25 ส.ค.2557 สิ้นสุดวาระ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565  ซึ่งเป็นไปตามคำร้องของสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านที่ตั้งคำถามไปถึงศาลรธน. โดยตรงว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีมาครบ 8 ปีแล้ว นับจากได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2557 

 

สถานการณ์ทางการเมืองข้างหน้าของประเทศไทย ย่อมตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับผลคำวินิจฉัยในทางบวก ฉากทัศน์ใหม่มุ่งไปสู่กระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศ โดยบทบาทสำคัญตกไปที่ พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรีในการทำหน้าที่รักษาการนายกฯ ( เป็นไปตามที่นายวิษณุ  เครืองาม รองนายกฯเคยกล่าวไว้ว่า หากคำวินิจฉัยศาลรธน.ให้นายกฯประยุทธ์ไม่ได้ไปต่อ ก็ไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่รักษาการนายกฯ )

 

พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รักษาการนายกฯ

 

ตรงนี้เอง"พล.อ.ประวิตร" รักษาการนายกฯ ประสานสำนักเลขาธิการครม. เพื่อส่งสาสน์ไปถึง "ชวน หลีกภัย" ประธานรัฐสภา นัดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยเลือกจากแคนดิเดตในบัญชีที่พรรคการเมืองยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ประกอบด้วย

 

อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย , อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ , ชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ , ชัยเกษม  นิติสิริ และ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย 

 

แต่โดยสภาพข้อเท็จจริง ก็เหลือแต่ อนุทิน ชาญวีรกูล  จากพรรคภูมิใจไทย และชัยเกษม นิติสิริ  ที่จะถูกส่งเข้าประกวดในสภา เพราะอภิสิทธิ์ ลาออกจากส.ส.พรรคปชป.  ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ ไปเป็นหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ชัชชาติ ก็ไปเป็นผู้ว่าฯกทม.ซะแล้ว 

 

กระบวนการเลือกนายกฯในสภาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ จะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภาในวันลงมติ หรือหากนับจำนวน ส.ส.และส.ว.เมื่อการเลือกตั้งในปี 2562 ต้องได้คะแนนมากกว่า 350 เสียงขึ้นไป

 

"30 ก.ย."ส่องแนวทางศาลรธน.ชี้ปมวาระ 8 ปี "ประยุทธ์" โอกาสพลิกโฉมการเมือง

 

แต่หาก 1 ใน 5 จากบัญชีพรรคการเมืองไม่ได้รับเสียงจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง จะต้องมีการใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาขณะนั้นนำสู่ขั้นตอนการเลือก "นายกฯนอกบัญชี" 

 

ถึงตรงนี้ มีการวิเคราะห์กันไว้แล้ว ว่า การเลือกนายกฯจากในบัญชีมีปัญหาแน่ โดยตรรกะทางการเมือง ใครจะให้ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอันดับสองขึ้นเป็นนายกฯ ทำนองเดียวกัน การจะเลือกชัยเกษม  นิติศิริ ซึ่งมาจากพรรคฝ่ายค้าน มาเป็นนายกฯในสถานการณ์แบบนี้ค่อนข้างยากลำบากจากจำนวนเสียงในสภา 

 

ฉะนั้นแล้ว จึงมีการมองไปยังสเต็ปที่สอง นั่นคือ การเลือกนายกฯนอกบัญชี  ณ นาทีนี้ ตัวเลือกเบอร์ต้น เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก"พล.อ.ประวิตร"ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป 

 

อย่างไรก็ตาม การทำหน้าที่ของ"พล.อ.ประวิตร" รักษาการนายกรัฐมนตรีหลังคำตัดสินของศาล ไม่ว่าจะองคาพยพรัฐบาลจะมีข้อสรุปให้ยุบสภาแล้วรักษาการ หรือจะผลักดัน "พล.อ.ประวิตร" เป็นนายกรัฐมนตรีให้เสร็จทุกขั้นตอนภายในเดือน ต.ค. ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นจากผู้นำหลายประเทศทั่วโลกในการมาประชุมที่ไทยในเดือน พ.ย.นี้แน่นอน 

 

ฉะนั้น "30 ก.ย."อันเป็นวันที่องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยพิพากษา"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ย่อมส่งผลสะเทือนไปถึงองคาพยพในรัฐบาล สามารถพลิกหน้ากระดานทางการเมืองไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้ตลอดเวลา     

 

"30 ก.ย."ส่องแนวทางศาลรธน.ชี้ปมวาระ 8 ปี "ประยุทธ์" โอกาสพลิกโฉมการเมือง

logoline