svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จับ 7 อาการภูมิใจไทยไปต่อก็เหนื่อย-ลงหลังเสือก็ลำบาก

บรรดาคอการเมืองหลายคน กำลังสงสัยว่าทำไมพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะ "อนุทิน ชาญวีรกุล" หรือ "เสี่ยหนู" ถึงต้องออกมาจัดหนัก เล่นแรง หลังถูกถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จนกฎหมายค้างเติ่งข้ามสมัยประชุม

จากประเด็นที่เกิดขึ้น "เนชั่นทีวี" จึงขอกะเทาะเป็นข้อๆ ดังนี้ 

 

1.ภูมิใจไทยหมายมั่นปั้นมือกับนโยบาย "ปลดล็อกกัญชา" และเชื่อว่าจะสร้างคะแนนนิยมให้กับพรรคได้ ฉะนั้นเมื่อโดนสกัดก็เลยออกอาการไม่พอใจ

 

นอกจากนี้ ที่สำคัญตอนผ่านร่างดังกล่าวในวาระแรก เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.65 ทุกพรรคต่างสนับสนุนกันหมดเกือบ 100% มีเพียงพรรคประชาชาติที่โหวตคว่ำ ด้วยเหตุผลทางศาสนา แต่ผ่านมาไม่นาน เมื่อจะส่งร่างกลับมาพิจารณาวาระ 2-3 และมีเสียงวิจารณ์เรื่อง "หลุมดำ" หรือ สุญญากาศกฎหมายช่วงปลดล็อกกัญชา ปรากฏว่าโดนพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย สอยคาสภา เสียหน้าไปไม่น้อย 

 

2.ภูมิใจไทยเหมือน "ขี่หลังเสือ" ลงหรือถอยไม่ได้อีกแล้ว เพราะเปลี่ยนตัวเอง ปรับเป้าหมายเป็นพรรคขนาดใหญ่ หรือ พรรคร้อยเสียง ไม่ใช่พรรคขนาดกลาง 35-60 เสียง เหมือนอย่างที่ผ่านๆมา 

 

3.เมื่อจะเป็นพรรคใหญ่ ไม่ได้หวังรอเสียบ ร่วมรัฐบาลกับใครก็ได้ จึงต้องมีเดิมพัน และเดิมพันที่ว่านั้น คือ การต้องเปิดศึกกับพรรคใหญ่ ที่ใหญ่มาก่อน โดยเฉพาะกับพรรคเพื่อไทยในอีสาน ซึ่งการเปิดศึกก็มีทั้งศึกนโยบาย และศึก "พลังดูด" 

 

4.เมื่อหวังจะเป็นพรรคใหญ่ จุดยืนพรรคจึงต้องมี ไม่สามารถทำตัวเป็นพรรคชิลล์ๆ กลางๆ ไหลไปตามกระแส หรือเฮไหน เฮกัน ได้อีกแล้ว แต่ต้องโดดเด่น มีจุดยืนชัด ตามสโลแกน "พูดแล้วทำ" 

 

5.ประชาธิปัตย์จะเป็นทั้ง "คู่แข่ง" และ "คู่แค้น" ในสนามเลือกตั้ง นอกเหนือจากพรรคเพื่อไทย แม้ภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์จะเคยจับมือกันมาตลอดตั้งแต่สมัย "พลิกขั้ว" อำนาจเมื่อช่วงปี 51 โดยกลุ่มเพื่อนเนวิน กับวลีฮิตติดหู (มันจบแล้วครับนาย) ด้วยการทิ้ง "ทักษิณ ชินวัตร" และหันมาสนับสนุน "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เป็นนายกฯ 

 

แต่สถานการณ์ในวันนั้นประชาธิปัตย์ คือ "พรรคใหญ่" เป็นคู่ชิงกับ "เพื่อไทย" หรือ "พลังประชาชน" เวลานั้น แต่ในการเลือกตั้งปี 62 ภูมิใจไทยผงาดขึ้นมาจากพรรค 30 เสียงต้นๆ มาเป็นพรรค 50 เสียง ใกล้เคียงกับประชาธิปัตย์ที่ตกฮวบจากพรรค 100 กว่าเสียง มาเป็นพรรค 50 เสียงเท่าๆ กับภูมิใจไทย และปัจจุบันภูมิใจไทยยังได้ ส.ส.เข้าพรรคเพิ่ม หลังไปเก็บโกยจากบรรดาพรรคแตก จนกลายเป็นพรรค 60 กว่าเสียง ถืออันดับ 2 ของรัฐบาล และอันดับ 3 ของสภา

 

ที่สำคัญภูมิใจไทยยังกวาดที่นั่ง "ส.ส.ใต้" จากถิ่นประชาธิปัตย์มาได้ 8 ที่นั่ง ทำให้ภาคใต้ถูกตีแตก ไม่ได้เป็นเขตอิทธิพลของประชาธิปัตย์พรรคเดียวอีกต่อไป 

 

6. "เสี่ยหนู" และ "นาที รัชกิจประการ" แม่ทัพภาคใต้ของภูมิใจไทย ประกาศเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 65 ตั้งเป้าแลนด์สไลด์ 6 จังหวัดอันดามัน 11 เก้าอี้ ซึ่งกระทบ "หัวหน้าจุรินทร์" โดยตรง เพราะรวมจังหวัดบ้านเกิดของหัวหน้าจุรินทร์ อย่างจ.พังงาเข้าไปด้วย 

นอกจากนั้น "นาที"ยังตั้งเป้าแบบเบาๆ ขอ 20 ที่นั่งภาคใต้ให้ภูมิใจไทย โดยชูนโยบายเรื่องพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งภูมิใจไทยก็ดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอยู่ด้วย ทำให้สองพรรคนี้ ไม่มีทางเป็นพันธมิตรทางการเมืองกันได้อีกต่อไป 

 

7.ภูมิใจไทยเล่นการเมืองโหด แม้หน้าฉากจะดูอ่อนน้อม ไม่มีพิษภัย แต่หลังฉากใช้ทุกกลยุทธ์ ทุกความได้เปรียบ เล่นงานคู่แข่ง 

 

อย่างล่าสุดหลังโดนถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง มีคำสั่งลึกลับจากใครก็ไม่รู้ ให้ทบทวนโครงการก่อสร้างถนนหนทาง และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของพรรคที่อยู่ตรงกันข้าม โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ 

 

ขณะที่อีกด้าน ตลอดชวง 3 ปีกว่าของรัฐบาล ภูมิใจไทยก็ใช้หน้างานที่ตัวเองรับผิดชอบ แปรเป็นโครงการสร้างคะแนนเสียงให้กับตัวเองมากมายเช่นกัน โดยเฉพาะสร้าง ถนน สะพาน ทางยกระดับ หลายโครงการไม่เกิดในรัฐบาลชุดอื่นๆ ก็ไปรื้อมาปัดฝุ่นจนเห็นเป็นรูปเป็นร่างในรัฐบาลชุดนี้

 

นี่คือ 7 เหตุผลที่ทำให้ภูมิใจไทยอยู่ในสภาวะคล้ายๆ "ขี่หลังเสือ" จะลงก็ไม่ได้ และคงไม่ยอมลงแล้ว จึงต้องเดิมพันวัดดวง วัดกระแส กันที่ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่ง...แพ้ไม่ได้