svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

พลิกแฟ้ม "นายกรัฐมนตรี" ชี้วัดความเป็นไปในอำนาจ ภายใต้อุ้งมือ"ศาลรธน."  

16 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นับถอยหลัง 30 ก.ย. 65 คือ วันชี้ชะตาความเป็นไปของ"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะไปต่อหรือพอแค่นี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยปม "8 ปีนายกฯ" หากย้อนกงล้อการเมือง "พล.อ.ประยุทธ์" มิใช่รายแรกที่ศาลรธน.วินิจฉัยเกี่ยวกับตำแหน่งนายกฯ

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สปอตไลท์ทางการเมือง กำลังจับจ้องไปที่"องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ซึ่งเตรียมทำหน้าที่วินิจฉัยคดีสำคัญของประเทศ นั่นคือ การวินิจฉัย ปม"นายกฯ 8 ปี" ของ"พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา"ที่นัดหมายกันไว้ในวันที่ 30 กันยายน เวลา 15.00 น. ณ  ห้องพิจารณาคดีชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา  5 ธันวาคม  2550  อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ประกาศยึดอำนาจ ตั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหน.คสช.และเป็นนายกฯในเวลาต่อมา ห้วงเวลากว่า 8 ปี นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช.ภายใต้การนำของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผบ.ทบ.ขณะนั้น ตั้งตนเป็น"หัวหน้าคสช." ทำการยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ชินวัตร พร้อมกับคลอดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ก่อนที่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ลงมติเห็นชอบ ให้"พล.อ.ประยุทธ์" ดำรงตำแหน่งนายกฯ พร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 เพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป จน "พล.อ.ประยุทธ์"  ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ให้มาดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามกติการัฐธรรมนูญฉบับปี 60   

 

"พล.อ.ประยุทธ์"  ในฐานะนายกรัฐมนตรี ถูกตรวจสอบอย่างหนักทั้งจากฝ่ายค้านในสภา และกลุ่มมวลชนภายนอกสภาที่ไม่พึงพอใจการบริหารงานรัฐบาล"พล.อ.ประยุทธ์" 

 

พลิกแฟ้ม "นายกรัฐมนตรี" ชี้วัดความเป็นไปในอำนาจ ภายใต้อุ้งมือ"ศาลรธน."  

 

โดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าเป็น กกต. ป.ป.ช. รวมถึง"ศาลรัฐธรรมนูญ" จึงเป็นองค์กรที่ถูกฝ่ายนิติบัญญัติและภาคประชาชนใช้บริการมากเป็นพิเศษ  ในการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะ ความเป็นนายกรัฐมนตรี ของ"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" กระทั่งล่าสุด นั่นคือ การตรวจสอบคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ"พล.อ. ประยุทธ์  จันทร์โอชา" สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170  วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ 

 

 

พลิกแฟ้ม "นายกรัฐมนตรี" ชี้วัดความเป็นไปในอำนาจ ภายใต้อุ้งมือ"ศาลรธน."  

 

อย่างไรก็ดี กลไกการตรวจสอบ "นายกรัฐมนตรี"  มิใช่เกิดขึ้นกับนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" แต่เพียงผู้เดียว เพราะถ้าย้อนกลับไป นับตั้งแต่มีการออกแบบรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ให้เกิด"ศาลรัฐธรรมนูญ"  ดูเหมือน บรรดาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะ"นายกรัฐมนตรี" ล้วนต้องเจอด่านตรวจสอบจากองค์คณะตุลาการศาลรธน. 

 

เริ่มจาก "ทักษิณ ชินวัตร" หรือ"โทนี วู้ดซัม" อดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบคดีทุจริตอยู่ต่างประเทศขณะนี้  เขาคือรายแรกที่มีเรื่องเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ประเดิมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ในคดี"ยื่นทรัพย์สินเป็นเท็จ"

 

พลิกแฟ้ม "นายกรัฐมนตรี" ชี้วัดความเป็นไปในอำนาจ ภายใต้อุ้งมือ"ศาลรธน."  

 

คดีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.43 ชี้ว่า "ทักษิณ" จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ และเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสิน เมื่อวันที่ 3 ส.ค.44 โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 15 คนมีมติ 8 ต่อ 7 เสียงวินิฉัยให้ "ทักษิณ" (ขณะนั้น) พ้นจากข้อกล่าวหา

 

พลิกแฟ้ม "นายกรัฐมนตรี" ชี้วัดความเป็นไปในอำนาจ ภายใต้อุ้งมือ"ศาลรธน."  

 

"สมัคร สุนทรเวช"  อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ ถือเป็นรายที่สอง ที่มีผู้ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ  ตรวจสอบคุณสมบัตินายกฯ  จากปมไปออกรายทำอาหาร ผ่านสถานีโทรทัศน์ ทั้งที่ตนเองดำรงตำแหน่งนายกฯ  จนเรียกข้อกล่าวหาขณะนั้นว่า  "คดีชิมไปบ่นไป" 

 

จุดเริ่มต้นมาจาก  "เรืองไกร  ลีกิจวัฒนะ" ส.ว.สรรหา(ขณะนั้น) พร้อมกลุ่ม 40 ส.ว. ได้ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ที่ห้ามนายกรัฐมนตรี มีตำแหน่งใดๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัทหรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด หากมีการกระทำตามมาตราดังกล่าว จะทำให้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7)

 

 

9 ก.ย.2551 "ศาลรัฐธรรมนูญ"มีคำวินิจฉัย 9 ต่อ 0 ตัดสินให้ว่าผู้ถูกร้อง(สมัคร) กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัครสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง(7) 

 

ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยังคงหลบหนีคดีตามคำพิพากษา ทุจริตจำนำข้าว

 

การผลัดเปลี่ยนอำนาจดำเนินมาถึงยุคสมัยรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ซึ่งนอกจากถูกจับตามองจากสังคมถึงการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์เพื่อพวกพ้องกันแน่ เพราะในห้วงเวลาที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ บริหารประเทศ ล้วนเต็มไปด้วยข้อครหาต่างต่างนานา ไม่ว่าเป็นกรณี ทุจริตจำนำข้าว  ความพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อเปิดทางให้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯหนีคดีทุจริตอยู่ในต่างประเทศได้กลับบ้าน ความล้มเหลวในการบริหารจัดการน้ำจนน้ำท่วมเมืองปี 2554  หรือแม้แต่การแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรม 

 

ด้วยพฤติการณ์เหล่านั้น จึงทำให้ฝ่ายตรวจสอบชงเรื่องเป็นคดีความขึ้นสู่ศาลฯ โดยเฉพาะ คดีละเลยให้เกิดการทุจริตคดีจำนำข้าว และคดีโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) 

 

อย่างที่กล่าวข้างต้น เพราะการกำหนดนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งภายหลัง ยิ่งลักษณ์ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาในวันที่ 27 ก.ย.2560 โดยลงโทษจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเวลา 5 ปีไม่รอลงอาญา และให้ออกหมายบังคับคดี นำตัวมารับโทษตามคำพิพากษา

 

ก่อนหน้านี้วันที่  7 พ.ค.2557"ศาลรัฐธรรมนูญ"เคยมีมติเอกฉันท์ถอดถอน "ยิ่งลักษณ์" ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจาก จากกรณีมีส่วนใช้อำนาจแทรกแซงการโยกย้าย"ถวิล เปลี่ยนศรี" จากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

 

"พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา" คือ นายกรัฐมนตรีรายที่สี่ ภายใต้อุ้งมือศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย จะมีชะตากรรมบนเส้นทางอำนาจนี้อย่างไร วันที่ 30 ก.ย.คือคำตอบ 

logoline