svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ลุ้นระทึก"ศาลรธน." นัดพิจารณาคดีวาระดำรงตำแหน่ง " 8 ปี นายกฯ"

13 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เกาะติดอย่างใกล้ชิดสำหรับการประชุม"ศาลรัฐธรรมนูญ" วันที่ 14 ก.ย.65 วันดีเดย์พิจารณาปม " 8 ปี นายกฯ" หลังจากศาลรธน.ได้มีคำสั่งให้สำนักเลขาธิการสภาส่งสำเนาบันทึกกรธ.ที่ 501/61 ให้ศาลรธน.ประกอบพิจารณา

 

สถานการณ์ทางการเมืองกลับมาร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง เมื่อปฏิทินการเมืองเดินทางมาถึง วันที่ 14 กันยายน 2565  อันเป็นวันที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" นัดหมายประชุมพิจารณาคดี วาระดำรงตำแหน่ง " 8 ปี นายกฯ" ของ "พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี   ตามที่สมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านเข้าชื่อยื่นคำร้องผ่านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งมายังศาลรธน.วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ"พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา" สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 ประกอบกับมาตรา 158 วรรคสี่ 

 

ลุ้นระทึก"ศาลรธน." นัดพิจารณาคดีวาระดำรงตำแหน่ง " 8 ปี นายกฯ"

 

ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณาคดีได้ดำเนินการมาตามลำดับ โดยเมื่อวันที่ 24 ส.ค.65  "ศาลรธน." มีมติเอกฉันท์รับคำร้อง พร้อมกับมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4  สั่งให้ "พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา" หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย พร้อมกับให้ผู้ถูกร้อง คือ พล.อ.ประยุทธ์  ส่งคำชี้แจงมายังศาลรธน.ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลรธน. รับคำร้อง   

 

การที่ "พล.อ.ประยุทธ์"  ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯชั่วคราว จึงเป็นเหตุให้ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ"  รองนายกรัฐมนตรีเบอร์หนึ่ง  ต้องปฏิบัติราชการ "รักษาการนายกรัฐมนตรี"  

 

หลังจากวันที่"ศาลรัฐธรรมนูญ"ได้รับคำร้อง ก่อเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมกับการนำเสนอข้อมูลออกไปในทิศทางต่างๆ ที่เป็นทั้งข้อมูลสนับสนุนและหักล้างห้วงเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ต้องยึดตามรัฐธรรมนูญฉบับใดกันแน่ ต้องนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่เมื่อใด 

 

โดยเฉพาะข้อมูลสำคัญ เกี่ยวกับ บันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 /61  ครั้งนั้น "นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ"  อดีตประธานกรธ.  และ"นายสุพจน์  ไข่มุกด์" อดีตตุลาการศาลรธน.ซึ่งเป็นกรรมการร่างรธน.ขณะนั้น ได้อภิปรายให้ความเห็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี โดยยึดตามรธน.ฉบับชั่วคราวปี 57  

 

ประเด็นนี้เองทำให้ ศาลรธน. ได้ขอให้ "นายมีชัย  ฤชุพันธุ์"  อดีตประธานกรรมการร่างรธน. และ "นายปกรณ์  นิลประพันธ์" ในฐานะเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ส่งคำชี้แจงมายังศาล รธน.ด้วย 

 

ภายหลังแต่ละฝ่ายส่งคำชี้แจงมายังศาลรธน.เป็นที่เรียบร้อย ได้เกิดมหกรรมเอกสารหลุดอย่างต่อเนื่องตามมา ด้วยข้อสงสัยเอกสารเหล่านั้นเป็นของจริงหรือปลอม แม้แต่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" โดยเลขาธิการสำนักงานศาลรธน. ยังต้องนัดสื่อมวลชนเปิดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 ก.ย.65  แสดงความห่วงใยต่อกรณีที่เอกสารหลุดออกมา 

 

ถึงแม้คำแถลงจะไม่มีการยืนยันว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ แต่ถ้อยความท่อนหนึ่ง ที่ระบุว่า ประธานศาลรธน. แสดงห่วงใยและ "ศาล รธน" จะเพิ่มมาตรการระมัดระวังเอกสารหลุดรั่วให้มากขึ้น    

 

ตัวอย่างเอกสารหลุด ในส่วนของคำชี้แจง นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ  อดีตประธานกรรมการร่างรธน.ที่มีต่อศาลรธน.

 

ตรงนี้ย่อมอาจทำให้ถูกตีความจากสังคมได้เหมือนกันว่า เอกสารเหล่านี้ มีแนวโน้มเป็นของจริง 

 

 

ที่น่าสนใจ บรรดาเอกสารที่หลุดรั่วออกมา ล้วนมีประเด็นสำคัญ เพราะเป็นคำชี้แจง"นายมีชัย ฤชุพันธ์" ระบุว่า การนับวาระดำรงตำแหน่งของนายกฯให้ยึดตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560  คือวันที่ 6 เมษายน 2560  สอดคล้องกับเอกสารหลุดของ"พล.อ.ประยุทธ์"  ระบุว่า วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ เริ่มนับตามรธน. 2560  เช่นกัน  

 

ลุ้นระทึก"ศาลรธน." นัดพิจารณาคดีวาระดำรงตำแหน่ง " 8 ปี นายกฯ"

 

เอกสารหลุดดังกล่าว ยังมีประเด็นชวนให้วิพากษ์วิจารณ์ตามมาอีก เนื่องจาก "นายมีชัย" อ้างถึงบันทึกการประชุม กรธ.ที่ 500 / 61 ว่า เป็นบันทึกที่ไม่สมบูรณ์ครบถ้วน ไม่ได้มีการรับรองรายงานการประชุม 

 

ตรงนี้เอง ทำให้มีการเปิดเผยข้อมูลทางสื่อโซเชียล  ซึ่งเป็น เอกสารบันทึกรายงานการประชุมกรธ.ที่ 501 / 61 มีเนื้อหา ระบุเกี่ยวกับการรับรองรายงานการประชุมกรธ.ครั้งที่ 500 /61   ซึ่งถือว่าเป็นการหักล้างคำชี้แจงของ "นายมีชัย" ชนิดที่ เป็นเหตุให้ ศาลรธน. ประชุมนัดพิเศษ เมื่อวันที่  8 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยออกเอกสารข่าวผลการประชุม ขอให้สำนักเลขาธิการสภา ส่งสำเนาบันทึกรายงานการประชุมกรธ.ที่ 501/61 มาให้ศาลรธน.ภายในวันที่ 13 ก.ย.  พร้อมกันนี้ ศาลได้กำหนดนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันพุธที่ 14 กันยายน 2565

 

ท่ามกลางการคาดการณ์กันว่า ในการประชุม"ศาลรัฐธรรมนูญ"วันที่ 14 ก.ย.นี้ เมื่อศาลฯพิจารณาคำชี้แจงที่ส่งมาให้จนสิ้นสงสัยแล้ว  อาจนำมาซึ่งการวินิจฉัย ปม "8 ปีนายกฯ" ในคราวเดียวกัน หรือ เป็นการแถลงนัดหมายกำหนดวันวินิจฉัย   ต้องจับตาอย่ากระพริบ  

 

logoline