8 กันยายน 2565 นับเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกวันหนึ่ง เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการประชุม" นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาวาระ 8 ปี นายกรัฐมนตรี" ครบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในขณะที่ก่อนหน้านี้กระแสเอกสารชี้แจงศาลรธน.ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึง นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ก็ได้ส่งคำชี้แจง ไปถึงศาลรธน.เป็นที่เรียบร้อยเช่นกัน พร้อมกับมีข่าวสะพัด เอกสารของ"ปกรณ์" คือเอกสารชุดล่าสุดที่หลุดออกมาสู่สังคมให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง (อ่านรายละเอียดที่นี่)
กระทั่ง "เลขาศาลรธน." ต้องออกมาเปิดแถลงแสดงความห่วงใย เอกสารหลุด ปม"นายกฯ 8 ปี" (อ่านรายละเอียดและชมคลิปที่นี่)
ล่าสุดนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีเอกสารหลุดว่าเห็นกบดานอยู่นาน นึกว่าคุณมีชัยจะมีทีเด็ดอะไร ถึงเวลากลายเป็นกระสุนด้านให้ขายหน้าเสียเปล่าๆ
ที่คุณมีชัยบอกว่าให้นับเวลาตั้งแต่ ปี 60 ที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับนั้น เป็นเพราะอ้างว่าพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันมาตั้งแต่ปี 60 ซึ่งฟังไม่ขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 264 บัญญัติว่า ครม.ที่เป็นอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับเป็นครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ ก็คือต้องนับมาตั้งแต่ปี 2557 คือ ตั้งแต่ พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯมาแต่แรก
คำชี้แจงของคุณมีชัยย้อนแย้งกันเอง แบบหาตรรกะเหตุผลไม่ได้ แต่ที่สำคัญก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ถามความเห็นส่วนตัวในปัจจุบันของคุณมีชัย แต่ถามถึงเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าไม่มีบันทึกไว้ก็ต้องให้คุณมีชัยกับพวกมาเล่า แต่เมื่อมีการประชุมหารือและบันทึกไว้ก็ต้องดูตามที่บันทึกไว้
คุณมีชัยดูจะทำอะไรแบบรีบๆอยู่บ่อยๆ และในเรื่องนี้ก็ทำแบบรีบๆถึงสองครั้งต่างกรรมต่างวาระกัน
รีบที่หนึ่งคือตอนที่คณะกรรมการรับรองรายงานการประชุม คุณมีชัยคงเห็นว่าไม่มีอะไรจะแก้หรือไม่ทันนึกอะไรก็เลยปล่อยผ่านไป แล้วก็จำไม่ได้ว่าที่ประชุมรับรองบันทึกการประชุมในวันที่ 7 ก.ย. 2561 ไปแล้ว หรือไม่ก็แกล้งทำเป็นจำผิด
มาตอนนี้ก็รีบอีกคือรีบบอกว่าบันทึกการประชุมครั้งนั้น ผู้จดบันทึกคิดไปเองและไม่ได้มีการรับรอง แต่ปรากฎหลักฐานชัดเจนว่าคณะกรรมาธิการฯรับรองรายงานการประชุมไปแล้ว จึงต้องถือตามรายงานการประชุมนั้น
ความเห็นของคุณมีชัยในวันนี้จึงไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใคร จะมีก็แต่ความเสียหายต่อคุณมีชัยเอง ที่ไม่มีหลักการอะไรและยังมาลักไก่ให้คนเขาจับได้ ขายหน้าเขาไปทั่ว
ในขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความกรณีเดียวกันด้วยว่า มองปรากฏการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเข้าสู่กระบวนการศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้หัวข้อว่า อธิบายเหตุผลในสิ่งที่ไม่มีเหตุผล ว่า
อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นนักกฎหมายชั้นเซียนที่เอกอุ ยากที่นักกฎหมายคนใดในใต้ฟ้าเมืองไทยจะต่อกรได้ ต้องยอมรับว่า ผมชื่นชอบท่านในทางกฎหมาย
แต่คราวใดก็ตามที่หลักกฎหมายนั้นเกี่ยวข้องกับการเมือง การให้ความเห็นทางกฎหมายของอาจารย์มีชัย มักมีข้อโต้แย้งได้เสมอ การรับฟังอาจารย์มีชัย จึงต้องแยกเป็น 2 ส่วนว่า ท่านกำลังอธิบายข้อกฎหมายล้วนๆ หรือ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมือง ถ้าอธิบายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมือง ก็ต้องดูว่า อาจารย์มีชัย เป็นขั้วไหนทางการเมืองด้วยเสมอ อาจารย์มีชัย กับ ดร.วิษณุ จะเหมือนกันตรงที่ต้องดูว่า ท่านอยู่ฝ่ายไหนของการเมือง ผู้มีอำนาจทางการเมืองจึงนิยมนำอาจารย์มีชัย และ ดร.วิษณุ มาอยู่ข้างกายเสมอ จนเป็นตำนานทางการเมืองของประเทศนี้ไปแล้ว
ผมยืนยันอีกครั้งว่า การอธิบายการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี ใช้หลักกฎหมายพื้นฐาน ย้ำว่า พื้นฐานมากๆเสียด้วย หลักการนี้ นักกฎหมายน่าจะเรียนกันตั้งแต่เทอม 1 ปี 2 ของการเรียนกฎหมาย เรื่องนี้ ง่ายเข้าไปอีกตรงที่ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยมีการวินิจฉัยการดำรงตำแหน่ง"ต่อเนื่อง" ของรัฐมนตรีมาแล้ว สามารถนำมาเทียบเคียงได้ เพราะนายกรัฐมนตรีก็คือรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งตามรัฐธรรมนูญนั่นเอง
ผมคิดว่า นักกฎหมายตัวน้อยๆ ก็สามารถโต้แย้งคำอธิบายของ อ.มีชัย ได้ แต่อย่าเขียนให้มากความเลย เพราะคดีอยู่ระหว่างการวินิจฉัยของศาล จะมีปัญหาเปล่าๆ
เวลาเรายกเหตุผลอะไรมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มีหลักในการอธิบายอยู่ 2 ประการ คือ
1.เรากำลังอธิบายเหตุผลในสิ่งที่มีเหตุผล เช่น อธิบายว่า ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เกิดจากอะไร
2.เรากำลังอธิบายเหตุผลในสิ่งที่ไม่มีเหตุผล
ใครอธิบายเหตุผลในสิ่งที่ไม่มีเหตุผล ได้"โคตรเซียน" เลย
ล่าสุดวันนี้ (8 ก.ย.) ได้ออกมาโพสต์พร้อมภาพ ว่า เจตนาหํ กมฺมํ วทามิ (เจตนานั่นแหละเป็นกรรม)
มีเอกสาร"หลุด"ออกมาว่า อาจารย์มีชัย ชี้แจงว่า บันทึกรายงานการประชุมกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 ยังไม่มีการรับรอง จึงรับฟังไม่ได้ ต่อมา มีเอกสาร"หลุด"ออกมาว่า รายงานการประชุมกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 มีการรับรองแล้ว
ถ้า อาจารย์มีชัย เริ่มต้นด้วยการชี้แจงด้วยข้อความที่ไม่เป็นจริง มันแสดงถึงเจตนาได้ว่า ท่านต้องการอะไรจึงปกปิดความจริงไว้ (รอการพิสูจน์เอกสาร)
ผมอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า รายงานการประชุมครั้งที่ 500 มีการรับรองหรือยัง เพื่อพิสูจน์ว่า ใครเท็จ หรือ ใครจริง ทั้งนี้ หากเอกสารนั้นยังไม่มีการรับรองตามที่อาจารย์มีชัยกล่าวอ้าง ก็ต้องปกป้องเกียรติยศศักดิ์ศรีของอาจารย์มีชัย แต่ถ้าเอกสารนั้นรับรองแล้ว อาจารย์มีชัยก็ต้องรับผลการกระทำของตัวเอง
หมายเหตุ:1.เอกสารหลุด หมายความว่า ไม่มีใครรับรองได้ว่าเอกสารนั้นจริงหรือปลอม 2.โปรดแสดงความเห็นอย่างสุภาพ