svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รัฐสภาคว่ำร่างแก้ไข รธน. วาระแรก 4 ฉบับรวด เหตุเสียง ส.ว. ไม่ถึงเกณฑ์

07 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ที่ประชุมรัฐสภา คว่ำร่างแก้ไข รธน. วาระแรก 4 ฉบับรวด เสียง ส.ว.ไม่ถึงเกณฑ์ พรรคพลังประชารัฐนำทีมไม่รับหลักการปิดสวิตซ์ ส.ว.เลือกนายกฯ

วันนี้ (7 ก.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมรัฐสภา พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยหลังสมาชิกรัฐสภา ขานชื่อลงมติครบทุกคนแล้ว ปรากฏว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมทั้ง 4 ร่าง ไม่มีร่างได้คะแนนเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 364 คน จากจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งหมด 727คน 

 

โดยร่างที่ 1 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มาตรา 43 เกี่ยวกับสิทธิบุคคลและชุมชน ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย และคณะเป็นผู้เสนอ ผลการลงคะแนน ดังนี้ เห็นชอบ ส.ส. 342  คะแนน ส.ว. 40 คะแนน ไม่เห็นชอบ ส.ส. 99 คะแนน ส.ว. 153 คะแนน งดออกเสียง ส.ส. 2 คะแนน ส.ว. 26 คะแนน

 

ร่างที่ 2 ร่างแก้ไขมาตรา 25 มาตรา 29 มาตรา 34 เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพประชาชน ที่ นพ.ชลน่าน และคณะ เป็นผู้เสนอ ผลการลงคะแนน ดังนี้ เห็นชอบ ส.ส. 338 คะแนน ส.ว. 8 คะแนน ไม่เห็นชอบ ส.ส. 103 ส.ว. 196 คะแนน งดออกเสียง ส.ส. 2 คะแนน ส.ว. 15 คะแนน

 

ร่างที่ 3 ร่างแก้ไขมาตรา 159และ170 เกี่ยวกับคุณสมบัติและที่มาของนายกฯ ที่ นพ.ชลน่าน และคณะเป็นผู้เสนอ ผลการลงคะแนน ดังนี้ เห็นชอบ ส.ส. 337 คะแนน ส.ว. 9 คะแนน ไม่เห็นชอบ ส.ส. 100 คะแนน ส.ว. 192 คะแนน งดออกเสียง ส.ส. 6 คะแนน ส.ว. 18  คะแนน

 

ร่างที่ 4 ร่างแก้ไขมาตรา 272 เกี่ยวกับการตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร และประชาชนเข้าเชื่อเสนอ ผลการลงคะแนน ดังนี้ เห็นชอบ ส.ส. 333 คะแนน ส.ว. 23คะแนน ไม่เห็นชอบ ส.ส. 102 คะแนน  ส.ว. 151 คะแนน งดออกเสียง ส.ส. 8 คะแนน ส.ว. 45 คะแนน
 

 

รัฐสภาคว่ำร่างแก้ไข รธน. วาระแรก 4 ฉบับรวด เหตุเสียง ส.ว. ไม่ถึงเกณฑ์

ทั้งนี้ ผลการคะแนน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลัง และ ส.ส.พรรคเล็ก ลงมติไม่รับหลักการทั้ง 4 ร่าง ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นอย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคฝ่ายค้านทุกพรรค ลงมติรับหลักการทั้ง 4 ร่าง ขณะที่ ส.ว.ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ ส.ว.ที่เป็นตำรวจ ทหารลงมติไม่รับหลักการทั้ง 4 ร่าง

 

มีเพียง ส.ว.บางส่วนเท่านั้น ที่ลงมติรับหลักการในร่างที่ 4 เรื่องการตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อาทิ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ , นายคำนูณ สิทธิสมาน , นายปานเทพ เทพกาญจนา , พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ , นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายพิศาล มาณวพัฒน์ นายวันชัย สอนศิริ นายมณเฑียร บุญตัน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ 

 

 

รัฐสภาคว่ำร่างแก้ไข รธน. วาระแรก 4 ฉบับรวด เหตุเสียง ส.ว. ไม่ถึงเกณฑ์

รัฐสภาคว่ำร่างแก้ไข รธน. วาระแรก 4 ฉบับรวด เหตุเสียง ส.ว. ไม่ถึงเกณฑ์
 

ภายหลัง นายภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการที่พรรคภูมิใจไทย ร่วมโหวตปิดสวิตซ์ ส.ว. ไม่ให้โหวตเลือกนายกฯ ว่า เป็นทิศทางและดำริจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ได้แสดงความเห็นตั้งแต่ช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า จะไม่ยอมให้ ส.ว. มีอำนาจเหนือ ส.ส. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร ต้องได้เลือกนายกรัฐมนตรี โดยเสียงข้างมากก่อน แล้วจึงจะให้ ส.ว. ไปโหวตอย่างไรก็เรื่องของเขา

 

“ไม่กี่วันก่อน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ไปออกรายการได้พูดชัดเจนว่า อยากให้ นายกรัฐมนตรี มาจากสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง ก่อน แล้ว ส.ว. ทำตามเสียงส่วนใหญ่ที่ประชาชนเลือกมา ในการลงคะแนนวันนี้ก็เป็นการแสดงจุดยืนของพรรคภูมิใจไทยว่า เรามีความเห็นและจุดยืนแบบนี้ ส่วนผลจะออกมาแล้วก็ต้องยอมรับ กติกามีอย่างไร พรรคภูมิใจไทย เราเล่นตามกติกา” 

 

โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวด้วยว่า การลงมติในวันนี้ ตามรัฐธรรมนูญ ต้องให้ ส.ว. ลงมติรับหลักการ 1 ใน 3 คือ 84 เสียง แต่ดูแล้ววุฒิสภาลงมติเพียง 20 กว่าเสียงเท่านั้น ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นอันตกไป ซึ่งหมายความว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ส.ว. ยังคงมีสิทธิ์เลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

 

 

นายภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจไทย

logoline