svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พิชัย" แนะ 8 เรื่อง "ประวิตร" ต้องเร่งทำ เพื่อไทยโชว์ภูมิแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

06 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พิชัย" ชี้ ผลงาน "ประวิตร" พิสูจน์แล้วใครเป็นนายกฯ ก็ดีกว่า "ประยุทธ์" ติง หากกลัวตายก็ควรเลิกเล่นการเมืองได้แล้ว แนะ 8 เรื่อง "ประวิตร"ต้องเร่งทำ

 

เมื่อวันที่ 6 ก.ย.65  "นายพิชัย นริพทะพันธุ์" เปิดเผยว่า หลังจากที่"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกฯ ต้องเข้ามาทำหน้าที่แทน"พล.อ.ประยุทธ์" ปรากฎว่าการทำงานของ "พล.อ.ประวิตร" ในเวลาไม่กี่วันกลับทำได้ดีกว่า"พล.อ.ประยุทธ์" มาก เข้าใจปัญหาและเข้าถึงใจประชาชนได้มากกว่า"พล.อ.ประยุทธ์" ขนาดทำให้ "พล.อ.ประยุทธ์" ต้องเสียศูนย์ออกมาแสดงอาการหวงตำแหน่งเดิมอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยรูปนั่งคุยกับนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และ รมว. สาธารณสุข นั่งพร้อมกับ "พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา" โดยไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสม เพราะโดยตำแหน่งแล้วนายอนุทิน ที่เป็นรองนายกฯ ย่อมมีฐานะสูงกว่าพลเอกประยุทธ์ ที่เป็น รมว. กลาโหมเท่านั้น ยิ่งแสดงถึงภาพการยึดติดและอิจฉาทำใจไม่ได้ที่มีกับพลเอกประวิตร ทั้งที่น่าจะรู้ว่าเวลาของตนเองหมดแล้วแต่ยังพยายามจะดันทุรัง 

 

นอกจากนี้"พล.อ.ประยุทธ์"ในฐานะ รมว. กลาโหมยังลงพื้นที่น้ำท่วมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของ รมว. กลาโหมเลย รมว. กลาโหมน่าจะลงไปดูพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ที่กำลังมีปัญหาอยู่มากกว่า ทั้งนี้เพราะต้องการแข่งกับ"พล.อ.ประวิตร" ที่ลงพื้นที่น้ำท่วมก่อนหน้านี้และทำคะแนนนำไปมาก แต่พลเอกประยุทธ์ ลงพื้นที่กลับเสียคะแนนเพราะนั่งรถกันกระสุนและไม่ยอมเปิดหน้าต่างคุยกับประชาชน

 

โดยอ้างว่าเปิดไม่ได้เพราะเป็นรถกันกระสุน ซึ่งถ้าหากกลัวคนทำร้ายและกลัวตายขนาดนี้ กัไม่น่าจะยังดื้อรั้นจะอยู่ตำแหน่งต่อไปอีกเลย ควรออกไปได้แล้ว ทั้งสองเรื่องนี้แสดงถึงความเสื่อมของพลเอกประยุทธ์ได้ชัดเจนและพิสูจน์ได้เลยว่าใครเพราะมาเป็นนายกฯก็จะทำได้ดีกว่าพลเอกประยุทธ์ เป็น จากผลงานของพลเอกประวิตรเพียงไม่กี่วันมานี้พิสูจน์แล้ว จนทำให้พลเอกประยุทธ์ ต้องออกมาแย่งซีนกลัวพลเอกประวิตร จะโดดเด่นกว่าจนคนลืม"พล.อ.ประยุทธ์" แต่กลับยิ่งทำยิ่งเสีย 

 

ทั้งนี้ ไหนๆ พลเอกประวิตร โชว์ฟอร์มเหนือชั้นกว่าพลเอกประยุทธ์ แล้ว ก็อยากให้เร่ง แก้ไขปัญหาของประเทศที่ควรจะเร่งทำทันที อย่าปล่อยให้มีปัญหามากขึ้นเหมือนพลเอกประยุทธ์ ทำโดยนอกจากนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่ยังไม่ได้ทำแล้ว อยากให้เร่งทำ 8 เรื่องดังนี้ 

 

  • 1. การแก้ไขหนี้ ทั้งหนี้ธุรกิจและหนี้ครัวเรือน  โดยจัดระบบการพิจารณาลดหนี้ ลดดอกเบี้ย ยืดเงินต้น เพื่อให้ประชาชนทำธุรกิจและประคองชีวิตต่อได้ โดยหนี้ไม่ท่วม และวิธีแก้ที่ดีที่สุดคือการต้องเพิ่มรายได้ เพื่อให้ชำระหนี้ได้ เรื่องนี้ควรเร่งทำก่อนดอกเบี้ยจะขึ้นไปอีกมาก 
  • 2. การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ทั้งราคาน้ำมัน ก๊าซ และ ไฟฟ้า เพื่อแก้ไขให้ยุติธรรม อย่าให้บริษัทพลังงานและนายทุนพลังงานเอาเปรียบประชาชน
  • 3. การเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ไทย- กัมพูชา เพื่อให้ได้พลังงานในราคาถูก อีกทั้งยังจะมีรายได้เข้ารัฐสามารถนำไปทำสวัสดิการได้
  • 4. เร่งก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ หนองคาย-เวียงจันทน์-จีน เพื่อให้ส่งสินค้าไทยไปจีน และ นักท่องเที่ยวจีนมาไทยได้ 
  • 5. เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมากขึ้น ยกเลิกค่าเหยียบแผ่นดิน 
  • 6. แก้ปัญหาของแพง เงินเฟ้อ ล่าสุดเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมสูงถึง 7.86%  โดยเข้าไปดูโครงสร้างของราคาสินค้า อย่าให้นายทุนเอาเปรียบประชาชน 
  • 7. การรับมือดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะเป็นภาระกับประชาชนอย่างมาก ต้องมีแนวทางรับมือ
  • 8. การปล่อยตัวคนเห็นต่างที่ถูกกักขังอยู่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ โดยต้องเรียกเข้ามาหันหน้าปรึกษากัน 

 

8  เรื่องที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องที่มีแผนงานอยู่และสามารถทำได้ทันที ถ้าผู้นำเข้าใจและสามารถผลักดันได้ ประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและไม่อยากอยู่ได้การบริหารของพลเอกประยุทธ์ต่อไปแล้ว พรรคเพื่อไทยยังมีแผนงานอื่นๆอีกมากที่จะดำเนินการเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ อะไรทำได้ก่อนก็อยากให้พลเอกประวิตรทำไปเลย เพราะการฟื้นเศรษฐกิจที่ทรุดหนักมาตลอดจากฝีมือการบริหารของพลเอกประยุกธ์ยังต้องแก้ไขอีกมาก ต้องอาศัยคนมีความเข้าใจอย่างแท้จริงถึงจะแก้ได้ พวกที่เคยทำแล้วล้มเหลวก็อย่าไปเลือก 


ด้าน"นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม"  ส.ส.เชียงใหม่ รองเลขาธิการและคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย แถลงว่า จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า การเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอยู่นั้น กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

 

โดยคาดว่าการศึกษาทั้งหมดจะแล้วเสร็จประมาณสิ้นเดือนกันยายน จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ คาดว่าจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมได้ราวต้นปี 2566 และเข้าใจว่าค่าเหยียบแผ่นดินอาจจะมีการคิดหลายอัตราอีกด้วย
 

"นายจักรพล" กล่าวต่อว่า แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลคงเอาจริงกับการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามการกระทำของรัฐบาลนั้นได้นำมาสู่ข้อสงสัยทั้ง 3 ประการ ดังนี้

 

ข้อสงสัยที่ 1 ทำงานของรัฐบาลไร้ซึ่งความพร้อม รัฐบาลมีการประกาศการเงินค่าเหยียบแผ่นดินตั้งแต่ต้นปี แต่ก็เลื่อนมาตลอด ส่วนนึงอาจจะมาจากการขับเคลื่อนด้วยการด่าจากประชาชน แต่อีกส่วนนึงมาจากการทำงานที่ไร้ความพร้อมของรัฐบาล เพราะในความเป็นจริงรัฐบาลควรมีการศึกษา วิจัย สอบถามความเห็นของประชาชนก่อน

 

หลังจากนั้นก็ทำประชาวิจารณ์ และดำเนินตามขั้นตอนต่างๆตามที่กฎหมายกำหนด แต่ทั้งนี้หากเจาะเข้าไปในใส้ในพบว่า การศึกษาเรื่องนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาทางอากาศเพิ่งเสร็จลง ส่วนผู้ที่เดินทางเข้ามาทางบกอยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าการศึกษาทั้งหมดจะแล้วเสร็จประมาณสิ้นเดือนกันยายน นั่นหมายความว่าการดำเนินการมาตรการของรัฐไร้ซึ่งข้อมูลที่แท้จริง

 

ข้อสงสัยที่ 2 นโยบายของรัฐบาลจะสร้างต้นทุนในการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทุกวันนี้วิกฤติเงินเฟ้อยังไม่เบาบางลง วิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ยังระอุ และยังมีวิกฤติพลังงานที่เข้ามาอีก ทั้งนี้จะเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น ผู้บริโภคก็จะต้องใช้จ่ายมากขึ้นแม้จะซื้อสินค้าเท่าเดิม และหากมีมาตรการนี้อีกก็จะเพิ่มต้นทุนในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวมากขึ้น เท่ากับว่ารัฐบาลไล่นักท่องเที่ยวทางอ้อมหรือไม่

 

ข้อสงสัยที่ 3 มาตรการดังกล่าวจะเป็นการสร้างผลกระทบทางผลลบต่อจิตใจนักท่องเที่ยวหรือไม่ ทางกระทรวงอาจมองว่าค่าใช้จ่ายในการเยียวยาหรือดูแลของนักท่องเที่ยวด้านสาธารณสุขเป็นภาระให้กับทางงบประมาณ แต่ นักท่องเที่ยว คือ ผู้สร้างรายได้ให้กับประเทศ การที่รัฐบาลมีมาตรการบังคับเก็บเงินแบบนี้จะสร้างความบั่นทอนจิตใจของนักท่องเที่ยวหรือไม่?
 
"นายจักรพล" กล่าวเพิ่มว่า เพื่อไทยขอเสนอทางแก้ไขเบื้องต้นคือ การทำทางเลือกประกันภัย ประกันชีวิต หรือประกันแบบอื่นๆ ให้กับนักท่องเที่ยว แล้วทำการตลาดให้นักท่องเที่ยวซื้อประกันตามความเหมาะสมดีกว่า เพราะเราจะโน้มน้าวนักท่องเที่ยว (Persuade) แทนที่จะไปบังคับเก็บเงิน (Enforcement) ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะทำให้นักท่องเที่ยวไม่หนักใจ ไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ มีตัวเลือกประกันมากมาย และสร้างความสบายใจให้แก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจะรู้สึกปลอดภัย ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในบริการ ประเทศมีรายได้เพิ่ม แรงงานมีตลาดรองรับ มาตรการทั้งหมดนี้ควรที่จะดำเนินการมากกว่าไปบังคับเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวด้วยซ้ำ
 
"ทั้งหมดนี้กล่าวมานี้ คือ พฤติกรรมที่เรียกว่า "รัฐบาลมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ" ที่แท้จริง รัฐบาลควรมองถึงความสามารถในการบริหารประเทศของตัวเองและฟังเสียงของประชาชนมากกว่า แทนที่จะคิดไปเองและตัดสินใจโดยไม่ฟังเสียงประชาชน ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยนำประชาชนเข้ามาในสมการเพื่อออกนโยบายและแก้ไขปัญหาเลย คิดแทนประชาชนไปซะทุกเรื่อง ทั้งๆที่รู้ว่าตัวเองไร้ความสามารถในการบริหารแต่ยังไม่คิดที่จะให้ใครมาช่วยหรือฟังเสียงคนรอบข้างให้มากขึ้น นอกจากนี้จะเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลยังสร้างบาดแผลและกดหัวประชาชนอย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่วายคิดจะอยู่ต่อ ไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศแล้วยังไม่มีจิตสำนึกต่อประชาชนด้วย ในนามของพรรคเพื่อไทยขอคัดค้านการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินและคัดค้านการอยู่ต่อของรัฐบาล เพื่อเปิดทางให้ประชาชนได้พบกับสิ่งที่ดีกว่า" นายจักรพลกล่าว

logoline