เมื่อวันที่ 31 ส.ค.65 "นายนิวัติไชย เกษมมงคล" เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. พร้อมด้วยนายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกันแถลงข่าวถึงผลการดำเนินงานระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ค. 2565
"เลขาธิการ ป.ป.ช." เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ป.ป.ช.ได้ประชุมและมีมติชี้มูลความผิด "นายสมศักดิ์ เกียรตสุรนนท์" ในฐานะทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขณะนั้น
กรณีกล่าวหา"นายวรชัย เหมะ" อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กับพวกรวม 42 ราย ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในการเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ฉบับที่ .. พ.ศ. …. (พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย)
มีการเสนอมาตราหนึ่งเข้ามา ตามหลักการต้องส่งเข้าที่ประชุมสภาพิจารณาก่อนว่า สิ่งที่ส่งมาใหม่ขัดหลักการหรือไม่ แต่นายสมศักดิ์ไม่เสนอ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าไม่เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย เป็นการดำเนินการที่มิชอบ
เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า พฤติการณ์ของ"นายสมศักดิ์" กับพวก ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ทำผิดข้อบังคับในการประชุมสภาฯ ปี 51 หลายประการ
เช่น มีการเร่งรีบให้ ส.ส.ลงมติ และไม่ทำหน้าที่ส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวที่มีการโต้แย้งทักท้วงว่าการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ต้องส่งให้หน่วยงานอื่นของรัฐพิจารณาก่อนหรือไม่ ไม่ทำหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับสภา
เร่งรีบผลักดันร่าง "พ.ร.บ.นิรโทษสุดซอย" โดยไม่ทำหน้าที่ของมติที่ประชุมสภาว่าการขอแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการขัดกับหลักการแห่งร่างหรือไม่ อย่างไร
"คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติชี้มูลความผิดนายสมศักดิ์ กับพวก ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือโดยมิชอบ ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2542 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 213/1 ปัจจุบันได้ส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อพิจารณาแล้ว"
อนึ่ง "นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ถือว่าเป็นนักการเมืองอาวุโสชื่อดังในอดีต โดยเริ่มต้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น สังกัดพรรคกิจสังคม ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในหลายรัฐบาล
กระทั่ง ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ "นายสมศักดิ์"ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานสภาฯ จนเกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เมื่อพรรคเพื่อไทยมีความพยายามผลักดันร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ฉบับที่ .. พ.ศ . แต่มีการคัดค้านประท้วงกันวุ่นวาย ทั้งการออกกฎหมายผิดขั้นตอน ทั้งการถูกอภิปรายเพื่อหวังช่วยนักโทษคดีทุจริต ได้รับการนิรโทษไม่ต้องติดคุก ซึ่งหมายรวมไปถึง คนแดนไกล "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ที่หลบหนีคดีทุจริต ไปอยู่ต่างประเทศ ก็จะได้รับอานิสงค์จากกฎหมายฉบับนี้ หากผ่านสภาสำเร็จ ขณะที่นายสมศักดิ์ ยังได้ฉายาจากสื่อมวลชนว่าเป็น "ขุนค้อน" เนื่องจากมีการนำค้อนขึ้นมาเคาะบนบัลลังก์แบบเดียวกับต่างประเทศ เพื่อยุติการประท้วงกันวุ่นวาย
ไม่เพียงเกิดความวุ่นวายในสภา ด้านนอกสภา ได้เกิดการชุมนุมต่อต้านอย่างกว้างขวาง ขณะที่ "นายสมศักดิ์" ซึ่งทำหน้าที่ประธานสภาขณะนั้น เร่งรีบผลักดันกฎหมายฉบับดังกล่าว จนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีต่อป.ป.ช. และในที่สุด ป.ป.ช.แถลงมติชี้มูลความผิด