svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

พลิกปูม"9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ"กุมชะตา" 8 ปีนายกฯ"ได้ไปต่อหรือจอดป้ายนี้

30 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

30 ก.ย. คณะตุลาการ"ศาลรัฐธรรมนูญ" อ่านคำวินิจฉัย ปม"นายกฯ8ปี" ของพล.อ.ประยุทธ์ ทว่าการชี้ชะตาให้"ลุงตู่"ไปต่อหรือพอแค่นี้ ระหว่างนี้มาพลิกปูม 9 ตุลาการศาลรธน.ในการทำหน้าที่ครั้งสำคัญกันก่อน

 

ปมการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" มีวาระ "ครบ 8 ปี" เมื่อใดกันแน่ จะยึดตามรัฐธรรมนูญ ปี 2557 หรือ 2560  นับเป็นข้อถกเถียงจากการเมืองพรรคฝ่ายค้าน พยายามปลุกปั้นให้เป็นประเด็นปัญหาเกิดแรงกระเพื่อมต่อเก้าอี้นายกรัฐมนตรี นับเนื่องมาหลายเดือนแล้ว 

 

กระทั่งปฏิทินการเมืองขยับมาถึงวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ปลุกกระแสฝ่ายต่อต้านออกมาตีความ "พล.อ.ประยุทธ์"บริหารประเทศ ครบวาระ 8 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เกินกว่านั้นถือว่ามีสถานะเป็น"นายกฯเถื่อน" 

 

ทว่า เป็นเพียงการตีความกันไปกันมาของกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ โดยปราศจากบทบัญญัติรัธรรมนูญรองรับ เพราะองค์กรที่ทำหน้าที่ให้ความกระจ่าง ตามระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ "องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ"  จึงไม่แปลกที่สมาชิกรัฐสภาฟากฝ่ายค้านจึงเข้าชื่อเสนอให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ส่งคำร้อง ปม"นายก 8 ปี" มาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 

 

ถึงวันที่ 24  ส.ค.65  หรือวันพ้นวาระดำรงตำแหน่ง "นายกฯ8 ปี" ตามที่ฝ่ายต่อต้าน"นายกฯประยุทธ์"พยายามยัดเยียด ก็เป็นวันที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการประชุม โดยมีมติเสียงข้างมากให้ พล.อ.ประยุทธ์ "หยุดปฏิบัติหน้าที่" จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ผ่านมาถึงวันที่ 14 ก.ย.65  ศาลรธน.มีการประชุมพิจารณาปม "นายก 8 ปี"อีกครั้งโดยพิจารณาคำชี้แจงจนสิ้นสงสัยเพื่อเข้าสู่การนัดวินิจฉัยในวันที่ 30 ก.ย.นี้ 

 

"องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" จึงมีบทบาทสำคัญในการชี้เป็นชี้ตาย "พล.อ.ประยุทธ์" จะได้ไปต่อหรือพอแค่นี้ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  

 

พลิกปูมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ชุดปัจจุบัน ที่จะทำหน้าที่วินิจฉัยปมปัญหาการดำรงตำแหน่งของ "พล.อ.ประยุทธ์ " ว่า "ครบ 8 ปี"แล้วหรือยัง ครบเมื่อใดกันแน่  ประกอบด้วย 

 

"นายวรวิทย์ กังศศิเทียม" ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

 

1."นายวรวิทย์ กังศศิเทียม" ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับเลือกมาโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด บุคคลผู้ซึ่งองค์คณะตุลาการศาลรธน.ด้วยกันก็เคยสงสัย เกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของ "นาย วรวิทย์" ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ว่าต้องพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เหตุมีอายุครบ 70 ปีหรือไม่ จนมีการส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการสรรหาฯ พิจารณาแล้วมีมติเอกฉันท์ 5 ต่อ 0 เสียง ระบุว่า "นายวรวิทย์" ไม่ขาดคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ 

 

ล่าสุดนายวรวิทย์ เป็นหนึ่งในตุลาการเสียงข้างน้อยไม่ได้ให้"ลุงตู่"หยุดปฏิบัติหน้าที่ 

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

2."ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์" รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา กรรมการกฤษฎีกา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

 

จบการศึกษานิติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา 

 

 "ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์"  เป็นหนึ่งในตุลาการศาลรธน.เสียงข้างมาก สั่งให้ "ลุงตู่ หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรธน.จะมีคำวินิจฉัย 

 

นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

3."นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม" รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ประวัติการศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง (พ.ศ.2517) เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 28 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา (พ.ศ.2518) นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ.2525) ตำแหน่งหน้าที่สำคัญในอดีต นายทหารพระธรรมนูญ กองทัพเรือ (25 มีนาคม 2519 – 30 กันยายน 2524 ) ผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาประจำกระทรวงช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดทุ่งสง และผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดแม่สอด ศาลจังหวัดพิษณุโลก และศาลจังหวัดนครสวรรค์ (1 ตุลาคม 2524 – 31 ตุลาคม 2534 ) ฯลฯ 

 

สำหรับ "นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม" คือตุลาการศาลรธน. เสียงข้างน้อย ที่ไม่ได้สั่งให้ "ลุงตู่" หยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา 

 

นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

4.นายวิรุฬห์ แสงเทียน รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ประวัติการศึกษา  นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา  ตำแหน่งหน้าที่สำคัญในอดีต ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา (1 ตุลาคม 2560) รองประธานศาลฎีกา (1 ตุลาคม 2558)  ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา เป็นต้น 

 

"นายวิรุฬห์ แสงเทียน"  เป็นหนึ่งในตุลาการศาลรธน. เสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าศาลรธน.จะมีคำวินิจฉัย 

 

นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด   ประวัติการศึกษา ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ประวัติการรับราชการ ตุลาการศาลปกครองชั้นต้น  ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด 

 

สำหรับ "นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์"  เป็นหนึ่งในสี่เสียง หรือเสียงข้างน้อย ไม่ได้สั่งให้ "ลุงตู่" หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากการประชุมเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา 

 

ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

6."ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ" ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ รายนี้จะครบวาระ 9 ปีในปีนี้  ประวัติการศึกษา  นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา นิติศาสตรมหาบัณฑิต (สาขากฏหมายอาญา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ LL.M. (Master of Law, University of Pennsylvania, U.S.A.) ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงทางกฏหมายอาญา (Diplôme d’Etude Approfondies de sciences criminelles) ปริญญาเอก (เกียรตินิยม) Doctorat en droit pnal mention très honorable, l’University de Nancy II, France  ประวัติการทำงาน ผู้บรรยายพิเศษโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (พ.ศ. 2536-2556)  รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทั่วไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (21 มิถุนายน พ.ศ. 2538 – 19 สิงหาคม พ.ศ. 2541 ) กรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (24 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 - 26 กันยายน พ.ศ. 2556)  เป็นต้น 

 

"ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ" เป็นหนึ่งใน 5 เสียง หรือตุลาการศาลรธน.เสียงข้างมาก สั่งให้ "พล.อ.ประยุทธ์" หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรธน.จะมีคำวินิจฉัย 

 

ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

7."ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์" ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์  ประวัติการศึกษา รัฐศาสตรบัณฑิต (การเมืองการปกครอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับสอง อักษรศาสตรมหาบัณฑิต (ภาควิชาประวัติศาสตร์)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยPH.D. (INTERNATIONAL STUDIES) WASEDA UNIVERSITY,ประเทศญี่ปุ่น ตำแหน่งทางวิชาการ ศาสตราจารย์ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง

 

"ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์"  เป็นตุลาการศาลรธน.อีกรายที่อยู่ในกลุ่มเสียงข้างมาก สั่งให้ "พล.อ.ประยุทธ์" หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าศาลรธน.จะมีคำวินิจฉัย ปม " นายก 8 ปี "

 

 

นายปัญญา อุดชาชน  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

8."นายปัญญา อุดชาชน" ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ   ประวัติการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) นิติศาสตรบัณฑิต  นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) M.A. (Public  Administration), Detroit, Michigan, U.S.A. นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Laws) ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Justice Administration) ประวัติการรับราชการ ปลัดอำเภอ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กระทรวงมหาดไทย เลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กระทรวงมหาดไทย นักวิชาการปกครอง กรมการปกครอง เป็นต้น 

 

"นายปัญญา อุดชาชน" ตุลาการศาลรธน. สายภาคราชการ เป็นหนึ่งในตุลาการศาลรธน.เสียงข้างน้อย ไม่ได้สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ 

 

นายนภดล เทพพิทักษ์  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

9."นายนภดล เทพพิทักษ์" ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ  ประวัติการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) Master of Arts (International Relations) , Northern Illinois University(Fulbright Scholarship) ตำแหน่งหน้าที่สำคัญในอดีตผู้อำนวยการกอง กองเอเชียตะวันออก 2 กรมเอเชียตะวันออก (พ.ศ. 2540) อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ (พ.ศ. 2542)รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก (พ.ศ. 2546) อธิบดีกรมเอเชียใต้ตะวันออกกลางและแอฟริกา (พ.ศ. 2547)

 

"นายนภดล เทพพิทักษ์" เป็นอีกรายของตุลาการศาลรธน.เสียงข้างมาก 5 เสียง สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์  หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรธน.จะมีคำวินิจฉัย 

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ความเป็นไปในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ"พล.อ.ประยุทธ์" เพราะหากย้อนความ "พล.อ.ประยุทธ์" เคยถูกศาลรธน.วินิจฉัย กรณีขาดคุณสมบัติเพราะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐขาดคุณสมบัติในการมีชื่อเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 ว่า ตำแหน่งดังกล่าวเป็นอำนาจเฉพาะชั่วคราวไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐพล.อ.ประยุทธ์ จึงยังไม่พ้นจากตำแหน่ง

 

ต่อมา "พล.อ.ประยุทธ์" ถูกตรวจสอบครั้งที่สอง ถึงความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณียังพักอาศัยในบ้านพักของข้าราชการทหารทั้งที่เกษียณอายุมาแล้ว 6 ปี หรือที่รู้จักในชื่อ "คดีพักบ้านหลวง" ซึ่ง"พล.อ.ประยุทธ์" ก็รอดจากปมข้อสงสัยนี้มาได้

 

การวินิจฉัยปม "นายกฯ 8 ปี"  นับเป็นครั้งที่สามที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องเผชิญการทำหน้าที่ขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งน่าสนใจว่า เป็นชุดเดียวกันกับที่เคยวินิจฉัยปมปัญหาข้อสงสัยตามรัฐธรรมนูญสองครั้งที่ผ่านมา   

logoline