svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

จับสัญญาณ"ยุบสภา" รัฐบาล"นายกฯลุงตู่"ออกอาการเร่งปลดล็อกฝ่ามรสุมรุมเร้า

17 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระแส"การยุบสภา" โหมแรงขึ้นอีกครั้ง สอดรับกับความเคลื่อนไหวของรัฐบาลภายใต้การนำของ"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ที่มีการขยับตัดสินใจเรื่องสำคัญหลายเรื่อง และยังมาพร้อมปริศนาฟ้าแลบ เหตุใด กกต.ออกแนวปฏิบัติห้ามฝ่ายบริหารใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์เลือกตั้ง( คลิป )

 

ชวนให้พินิจพิจารณาเสียเหลือเกิน เมื่อ"ราชกิจจานุเบกษา"ได้เผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พุทธศักราช 2563 

 

สาระสำคัญของระเบียบกกต.  เป็นการแจ้งให้ ครม.ซึ่งหมายรวมถึงนายกฯในการพ้นจากตำแหน่ง จากเหตุยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้ง พึงปฏิบัติควรทำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง ต่อบุคลากรภาครัฐ ทรัพยากรหน่วยงานรัฐ เพื่อไม่เป็นการเอื้อประโยชน์หรือเอาเปรียบในช่วงที่มีการเลือกตั้ง 

 

ไม่ว่าจะเป็นการห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ ออกนโยบาย โครงการ แผนงาน โดยให้มีผลบังคับใช้ในทันทีมีลักษณะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

 

ไม่ควรจัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่นอกเหนือจากการประชุมตามปกติ  แม้แต่การมอบหมายให้มีการประชุม อบรม หรือสัมมนาบุคลากรของรัฐ หรือเอกชน โดยใช้เงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐหรือเงินของกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ โดยอาจให้มีการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด

จับสัญญาณ"ยุบสภา" รัฐบาล"นายกฯลุงตู่"ออกอาการเร่งปลดล็อกฝ่ามรสุมรุมเร้า

จับสัญญาณ"ยุบสภา" รัฐบาล"นายกฯลุงตู่"ออกอาการเร่งปลดล็อกฝ่ามรสุมรุมเร้า

รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น คลื่นความถี่ หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการส่ง วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือใช้งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ ของหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่จะเป็น การสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

 

ข้อสังเกต  ระเบียบฉบับดังกล่าว เป็นการร่างไว้เมื่อปี 2563 โดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้งลงนามประกาศเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 หรือเมื่อสองปีที่แล้ว แต่เหตุใด เพิ่งบรรจุไว้ในราชกิจจานุเบกษาและเผยแพร่ออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา 

 

ที่สำคัญ ระเบียบกกต.ข้อ 2  ระบุว่า  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นั่นหมายความมีการประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการหลังวันที่ 15 สิงหาคมนี้ 

 

จะเป็นเพราะด้วยเหตุงานสารบรรณ สำนักเลขาธิการครม.ที่จัดลำดับเรื่องทยอยตีพิมพ์ ซึ่งก็คล้ายคลึงกับเรื่องอื่นๆไม่ว่าเป็นการออกกฎกระทรวง ระเบียบต่างๆที่ถูกร่างไว้หลายปีเพิ่งเผยแพร่หรือไม่ 

 

แต่น่าบังเอิญเสียเหลือเกินที่เว็ปไซต์ราชกิจจาฯ นำมาเผยแพร่ในช่วงวันเวลา ที่สถานการณ์ทางการเมืองชี้วัดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี "นายกฯ 8 ปี" อยู่บนความไม่แน่นอน จบสิ้นเมื่อใด 

 

 

ประเหมาะกับสถานการณ์ความไม่แน่นอน แม้แต่นักการเมืองขยับลงพื้นที่หาเสียงตุนคะแนนล่วงหน้า เพราะไม่รู้ชัด ยากหยั่งถึงความคิด "นายกฯประยุทธ์" จะประกาศยุบสภาเมื่อใด

 

ถึงกระนั้น หากจับอาการของฝ่ายบริหารท่ามกลางกระแสการปล่อยข่าว จะมีการยุบสภาในระยะเวลาอันใกล้นี้ ยังพบอาการทางการเมืองชนิดเรียกว่าเป็นสัญชาติญาณของนักการเมืองที่ต้องตระเตรียมการอะไรต่อมิอะไรให้พร้อมก่อนสภาถูกยุบ

 

จับสัญญาณ"ยุบสภา" รัฐบาล"นายกฯลุงตู่"ออกอาการเร่งปลดล็อกฝ่ามรสุมรุมเร้า

 

นอกจากระเบียบกกต.ฯ ที่ออกมาในวันที่ 15 ส.ค.อย่างน่าบังเอิญ  ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 16 ส.ค.65  นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์  รมว.พลังงาน ออกมายอมรับ การประชุมครม.มีวาระลับ เสนอออกพรก.กู้เงิน 1.5 แสนล้านบาท ค้ำประกัน หนี้กองทุนน้ำมัน 

 

ถือว่าเป็นการเร่งออกเป็นพ.ร.ก.ในสถานการณ์ทางการเมืองไม่แน่นอน ประหนึ่งรับรู้มีอะไรที่ฝ่ายบริหารยังสามารถใช้อำนาจได้ก็ต้องรีบดำเนินการ 

 

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกฯ สั่งการในที่ประชุม ครม. เร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 65 ค้างท่อ  พร้อมกับสั่งการ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รมว.คลัง ผลักดันร่างกม.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 66 ซึ่งกำลังเข้าสู่ที่ประชุมสภาในวาระสองและวาระสามให้เป็นผลสำเร็จ  

 

อีกสัญญาณที่สัมผัสได้ ผ่านการชี้แจงของนายกฯ ด้วยการออกมาเบรกกระทรวงพลังงานปรับขึ้นค่าไฟฟ้ารอบเดือนก.ย.- ธ.ค.ออกไปก่อน เช่นเดียวกับที่ทางรัฐบาลโปรโมทโครงการคนละครึ่งเฟส 5 เอาใจประชาชน หวังสร้างความนิยมรัฐบาลกำลังหดหายให้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง ในช่วงสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง 

 

จับสัญญาณ"ยุบสภา" รัฐบาล"นายกฯลุงตู่"ออกอาการเร่งปลดล็อกฝ่ามรสุมรุมเร้า

 

แม้ว่า  "ธนกร วังบุญคงชนะ"  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงต่อปมข้อสงสัย ระเบียบกกต.ฉบับบังเอิญว่า  "คงไม่ใช่การเตรียมพร้อมหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะหากย้อนไปก่อนหน้านี้กกต. เตรียมความพร้อมเลือกตั้งมาตลอด ทั้งในส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่น การเลือกตั้งเมืองพัทยาและการเลือกตั้งกทม. ที่เตรียมการมาตลอดเวลาอยู่แล้ว และที่สำคัญ พล.อประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี  ยืนยันว่า"ไม่มีการยุบสภา"และจะเดินหน้าทำงานให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ต่อไป 

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองไทยไม่มีอะไรแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นข่าวปล่อยข่าวลือ อย่าลืมว่าหลายครั้ง ข่าวลือมักเป็นจริงก็มี 

 

แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับ "พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา"  นายกรัฐมนตรีที่ต้องประเมินสถานการณ์รอบด้านถึงโอกาส ความได้เปรียบและเสียเปรียบทางการเมือง เพราะเป็นผู้มีอำนาจประกาศยุบสภาแต่เพียงผู้เดียว    

 

คลิป>>>

 

logoline