เมื่อวันที่ 14 ส.ค.65 คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และสภาที่ 3 จัดเสวนา "วาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกฯตามรธน." นำโดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาฯ 35 ธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผศ. วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นายพิสิษฐ์ ลีลาวัชโลภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย และ"รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก" ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ที่สำนักข่าวหนังสือพิมพ์
โดย"นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์" ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาฯ 35 กล่าวว่า ในปัจจุบันสิ่งที่น่ากังวลคือความเป็นผู้นำบริหารประเทศ หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จงรักภักดีจริงไม่ควรนำเอาสถาบันมาโหนหรือเกี่ยวข้อง ตนเองจะไม่ยอมให้ใครลบหลู่สถาบันของคนไทยเด็ดขาด ในวาระ 8 ปี นายกฯจะแถอย่างไรก็ได้ แต่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่พูด
ทางด้าน"นายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล " อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อยากตั้งคำถามให้ประชาชนถามตนเองและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประเพณีที่มีขอบเขตการปกครอง 8 ปี มีมาตั้งแต่เมื่อใด แต่พล.อ.ประยุทธ์ หวังจะให้ศาลรธน.วินิจฉัยให้นั่งเก้าอี้นายกฯต่อไปอีก 4 ปี การยิ่งอยู่นานยิ่งเป็นการผูกขาดอำนาจรัฐ สามารถครอบงำองค์กรอิสระเพื่อเอื้อประโยชน์
ขณะที่"ผศ. วันวิชิต บุญโปร่ง"อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า "สิ่งหนึ่งที่ความชั่วได้รับชัยชนะ คือการที่คนดีไม่ทำอะไรเลย" สิ่งสำคัญคือถ้าจะยกระดับคุณภาพทางการเมืองเราต้องดูประเทศอื่นๆ ที่มีการจำกัดอำนาจของผู้นำประเทศ ที่ผ่านมา 8 ปี สิ่งที่สัญญากับประชาชนเห็นได้ชัดว่าไม่สำเร็จ สิ่งที่ต้องการคือนายกฯไม่เคยประกาศว่าจะวางอนาคตทางการเมืองอย่างไร ขณะนี้คนไทยกำลังถูกสะกดจิตหมู่ ตนมองว่าประเทศยังสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่มีพล.อ.ประยุทธ์ และเครือข่าย 3ป.
"นายนิติธร ล้ำเหลือ" หรือทนายนกเขา แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) กล่าวว่า รธน.ฉบับนี้มีความชัดเจน ไม่มีความจำเป็นต้องเถียงกัน ความขัดแย้งในขณะนี้ไม่ได้เกี่ยวกับกฎหมาย มันเกี่ยวกับกิเลศอำนาจ
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย กล่าวว่า การตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบวาระ 8 ปี เมื่อใด ยอมรับว่าสามารถตีความได้ 3 นัย 1.ตีความตามกฎหมายแบบตรงไปตรงมา โดยใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 และมาตรา 264 ที่กำหนดให้เป็นบทต่อเนื่องของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้เป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งหมายรวมถึงตำแหน่งนายกฯ ด้วยเท่ากับว่า จะเริ่มนับวันที่ 24 สิงหาคม 2557
2.การตีความว่า มาตรา158 และ มาตรา 264 เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2560 และก่อนหน้านั้นยังไม่เคยมีบทบัญญัติดังกล่าว และมีคนมองว่าต้องเริ่มตีความวันที่ 6 เมษายน 2560 อาจทำให้เกิดปัญหาเนื่องจากคำอธิบายว่าช่วงที่เป็นนายกฯก่อนหน้านั้นเพราะเป็นรัฎฐาธิปัตย์ เพราะยึดอำนาจจากเจ้าของอำนาจและผู้ใช้อำนาจคือประชาชน ซึ่งพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจผ่านรัฐสภา คณะรัฐมตรี และศาล เท่ากับการยึดอำนาจนั้นยึดจากประชาชนและ พระมหากษัตริย์ อาจตีความได้ว่าเป็นกบฎได้
3.ตีความโดยใช้กระบวนการได้มาซึ่งนายกฯตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือ มาตรา 158 และมาตรา 159 โดยไม่นำบทเฉพาะกาลมาตรา 264 มาเกี่ยวข้อง เพราะอ้างว่าเป็นเงื่อนไขเพื่อสร้างความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เกี่ยวข้องกัน จะทำให้มีปัญหาคือ หากนับอายุนายกฯ เมื่อปี 2562 คำถามคือ การดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 ถึงปี 2560 ก่อนจะโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 ในปี 2562 เป็นอะไรต้องอธิบาย
"พล.อ.ประยุทธ์ พ้นตำแหน่งอาจมีปัญหาว่าการดำเนินการดังกล่าวชอบหรือไม่ ดังนั้นเมื่อไม่ให้เกิดปัญหา พล.อ.ประยุทธ์ ควรลาพักร้อน หรือหยุดปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง ป้องกันไม่ให้มีปัญหาลุกลามบานปลาย จนนำไปสู่การชุมนุมที่อาจลามไปประเด็นอื่น เช่น การปฏิรูปสถาบัน ที่ทำให้เป็นน้ำผึ้งหยดเดียวและฟางเส้นสุดท้ายได้" รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว