svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"บิ๊กตู่"มีโอกาสอยู่ยาวถึงปี 70 "อดีตกรธ.-อดีตตุลาการ"แนะยึดตาม ม.158

13 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ประยุทธ์"หายใจคล่องคอ ตีความ 8 ปีนายกรัฐมนตรี ต้องยึดตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ ม.158 แย้มอาจได้อยู่ยาวถึง 8 มิ.ย. 2570

13 สิงหาคม 2565 ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยกับ"เนชั่นทีวี" ผ่านรายการ "คมชัดลึก" เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา ถึงมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน กำหนดให้การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่เกิน 8 ปี แต่มีปัญหาว่าจะเริ่มต้นนับจากวันเวลาใด โดยจะต้องดูมาตราที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

 

ทั้งนี้ ข้อห้ามอยู่เกิน 8 ปี เริ่มจากรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดไว้ในมาตรา 171 ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่ในมาตรา 158 วรรคสี่ โดยรัฐธรรมนูญ 2560 กรธ.ใช้ชุดความคิดใหม่ และมีวิธีการที่แตกต่าง มีมาตราที่เกี่ยวข้องได้แก่ มาตรา 88 และ 89 ที่ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อแคนดิเดต 3 คน ไม่ต้องเป็น ส.ส. ก็ได้ จากนั้น การเป็นนายกฯ ให้เป็นไปตามมาตรา 159 และจากนั้น คือ มาตรา 158 ที่ระบุห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ในวรรคสี่

 

ศ.ดร.ชาติชาย กล่าวต่อว่า แต่จะมีผลอย่างไร ต้องดูจากทุกวรรคทั้งสี่วรรคในมาตรา 158 นายกรัฐมนตรีที่จะอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี ต้องเป็นนายกฯ ที่สภาเห็นชอบตามมาตรา 159 ดังที่กำหนดในวรรคสอง ของมาตรา 158 และเป็นนายกฯ ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ตามวรรคสาม ของมาตรา 158

 

ส่วนมาตรา 264 ที่ระบุให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือเป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งเท่ากับระบุว่าให้การเป็นรัฐบาลมีผลย้อนหลังนั้น เป็นการกำหนดไว้เพื่อความต่อเนื่อง ให้ประเทศไม่ปลอดจากการบริหารราชการแผ่นดินแม้วินาทีเดียว ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านๆ มา ก็กำหนดไว้ทุกฉบับ มาตรานี้เป็นหลักของการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นคนละหลักกับเรื่องมาตรา 158 ว่าด้วยการที่ฝ่ายนิติบัญญัติให้กำเนิดฝ่ายบริหารออกมา

ส่วนในการประชุม กรธ. ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ครั้งที่ 500 เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2561 ซึ่งมีความเห็นให้นับเวลา 8 ปีรวมทั้งหมด จากครั้งแรกที่ได้เป็นนายกฯ โดยไม่ปรากฏความเห็นค้านแนวคิดนี้ในบันทึกการประชุมนั้น ส่วนตัวจำได้ว่ามีคนถามแย้งเหมือนกัน ว่าจะยุติธรรมหรือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯตั้งแต่ปี 2557 เป็นรัฎฐาธิปัตย์ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่เกิดขึ้น ถ้าเขียนย้อนหลังไปมีผลเป็นโทษ แบบนี้จะเป็นธรรมหรือไม่

 

นอกจากนี้ กฎหมายมหาชนจะมีผลย้อนหลังเป็นโทษได้หรือ และมีคนในที่ประชุมบอกว่าถ้าเกิดปัญหา ให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไปก็แล้วกัน ซึ่งรายละเอียดการประชุมครั้งนั้น เป็นบันทึกการประชุม ไม่ใช่มติ เจ้าหน้าที่อาจไม่ได้จดเนื้อความทั้งหมดไว้

 

 

ขณะที่ นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เรื่องนี้ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ วาระ 8 ปีนายกฯ ซึ่งมีความเห็น 3 ทาง กลุ่มแรก อ่านมาตรา 158 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่าต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 ที่รับเป็นนายกฯ เท่ากับดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีแล้ว แต่ตนได้ฟังความเห็นตรงข้าม เห็นว่าการอ่านกฎหมาย จะอ่านวรรคเดียวไม่ได้ ต้องอ่านทั้งมาตรา และทั้งบทบัญญัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย หากอ่านทุกวรรค จะมีความเห็นตรงข้าม

 

ทั้งนี้ เพราะตามวรรคสอง ของมาตรา 158 กำหนดให้นายกฯ ต้องมาจากสภาผู้แทนฯ และตามวรรคสามนายกฯ ต้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ โดยประธานสภาลงนามรับสนอง หากอ่านบริบททั้งมาตรา ต้องเริ่มนับตั้งได้รับโปรดเกล้า ตามมาตรา 158 วรรคสอง ประกอบวรรคสาม ซึ่งมีการโปรดเกล้าฯตามมาตรา 158 ในวันที่ 9 มิ.ย. 2562 ซึ่งจะไปครบ 8 ปี ในวันที่ 8 มิ.ย. 2570

 

อย่างไรก็ตาม หากอ่านบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ให้ ครม.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนใช้รัฐธรรมนูญนี้ มีฐานะเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ เท่ากับบอกว่า ครม.ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ ครม. ตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่เพราะบทเฉพาะกาลมายกเว้น ให้ถือว่าเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ บทเฉพาะกาลเป็นข้อยกเว้นบทบัญญัติหลัก ดังนั้น ถือว่าทั้งนายกฯ และ ครม. เป็นนายกฯ และ ครม. มาตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 เป็นวันเริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ต้องรอโปรดเกล้าฯ การรอโปรดเกล้าฯ เป็นไปตามบทบัญญัติหลัก มาตรา 158 แต่บทเฉพาะกาลใช้แล้ว เป็นข้อยกเว้นตามบทบัญญัติหลัก

 

"อุปมาเหมือนค้างคาวไม่ใช่นก บทบัญญัติหลักบอกว่าให้ใช้กับนกเท่านั้น ค้างคาวจึงไม่เกี่ยว แต่มีบทเฉพาะกาล บอกว่าให้ถือว่าค้างคาวที่มีชีวิตอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ มีฐานะเป็นนกตามรัฐธรมนูญนี้ด้วย ค้างคาวกลุ่มนั้นจึงกลายเป็นนกตามรัฐธรรมนูญนี้ ตามบทเฉพาะกาล โดยไม่ต้องรอโปรดเกล้าตามมาตรา 156 วรรค 3 ซึ่งเท่ากับไปครบ 8 ปี ในปี 2568" นายจรัญ ระบุ 

 

สำหรับความเห็นที่มีน้ำหนักเป็น 3 แพร่งก้ำกึ่งอย่างนี้ จะหาทางออกอย่างไรนั้น แน่นอนศาลรัฐธรรมนูญต้องค้นหาเจตนารมณ์ การใช้กฎหมาย หากตัวบทเขียนชัดก็จบ แต่ถ้าตัวบทไม่ชัด แล้วสร้างปัญหาขัดแย้งก้ำกึ่ง ก็ต้องไปหาเจตนารมณ์ และเท่าที่ตะแคงหูฟัง ไม่ปรากฏเจตนารมณ์ชัดเจน มีแต่ความเห็นแต่ละคนที่บันทึกไว้ ไม่ใช่มติ จึงไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของกรรมการยกร่างเท่านั้นเอง

 

ส่วนเรื่องแนวคิด และมาตรา 264 อาจเปิดช่องให้นับจากปี 2560 โดย ศ.ดร.ชาติชาย กล่าวเสริมว่า มาตรา 264 อันเป็นบทเฉพาะกาล เป็นไปตามหลักให้การบริหารราชการแผ่นดินต่อเนื่อง ให้การกระทำต่างๆ ชอบด้วยกฎหมาย มาตรา 264 ไม่น่าใช่เรื่องนับ 8 ปี หากตีความเคร่งครัดตามมาตรา 158 เริ่มนับวันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ตามวรรค 2 ของมาตรา 158 คือ วันที่ 9 มิ.ย. 2562

 

"เคยฉุกใจคิดเหมือนกันว่า จะเริ่มนับ 8 ปีตั้งแต่เมือไหร่ แต่คุยกันแล้ว เจตนารมณ์เป็นองค์ประกอบ มาตรา 158 ซึ่งเป็นชุดความคิดใหม่ ก็ต้องนับตามมาตรา 158 เป็นมาตรากำเนิดนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ใครมาเป็นนายกฯ ก็เริ่มนับไป 8 ปี" ศ.ดร.ชาติชาย กล่าว

 

logoline