svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สภาล่มอีก!"เหตุฝ่ายค้านอุ่นเครื่องยกประเด็น"8 ปี นายกฯ"อภิปราย"ลุงตู่"

11 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สภาล่ม"อีกจนได้ ภายหลังฝ่ายค้านอุ่นเครื่องขออภิปรายปม "8 ปี นายก" วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นอภิปราย เทียบเคียงกรณี ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ที่ศาลรธน.เคยวินิจฉัย

 

11 ส.ค.65  การประชุมสภาผู้แทนราษฎร  องค์ประชุมสภาฯต้องมาล่มอีกครั้ง หลังจากเมื่อวานนี้ ( 10 ส.ค. 65 ) เพิ่งสภาล่มไปจากการพิจารณาร่างกม.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ปมการคำนวณสูตรหาร 500  แต่มาวันนี้เหตุการณ์ในสภาต้องล่มจากกรณี  ฝ่ายค้านหยิบวาระขอหารือและอภิปรายเรื่องคุณสมบัติของ "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ว่าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคท้ายแล้วหรือไม่  

 

ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่วาระดังกล่าว โดยมี นายศุภชัย โพธิ์สุ  รองประธานสภาทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม  นายสุทิน  คลังแสง  ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้เสนอเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเข้าที่ประชุม ปรากฎว่า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ได้ลุกขึ้นมาทักท้วง 

 

โดย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นายอรรถกร ศิริลัทยากร กล่าวว่า ญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอกังวลว่าจะใช้เวทีของสภาเพื่อกดดันผู้พิจารณาวาระ 8 ปีหรือไม่ ทั้งที่สภาฯ ไม่มีอำนาจ โดยเรื่องนี้ศาลมีอำนาจตัดสินใจว่าจะจบอย่างไร ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ในการหารือของวิป 2 ฝ่าย ตกลงว่าจะเสนอญัตติด่วนเพื่อแกัปัญหาหนี้นอกระบบ หากจะพิจารณาเรื่องที่ตกลงคือ หนี้นอกระบบตนไม่ติดใจ แต่หากจะยื่นญัตติเรื่อง 8 ปี ตนเองไม่เห็นด้วย 

 

 

จากนั้น ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล "นายรังสิมันต์ โรม" และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ  พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เสนอญัตติในทำนองเดียวกันกับนายสุทิน เพราะมองว่าเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ กระทบต่อความสงบของประเทศ  เนื่องจากเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นไปด้วยเมื่อพลเอกประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ 

 

อย่างไรก็ดี "นายศุภชัย" พยายามอธิบายว่า วาระตามที่เสนอญัตติการดำรงตำแหน่งนายกฯ​ตามรัฐธรรมนูญ สมาชิก สามารถเข้าชื่อเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ ถึงการพ้นจากตำแหน่ง ที่รัฐธรรมนูญกำหนด ดังนั้นตนมองว่าควรใช้ช่องทางดังกล่าวจะเหมาะสมกว่า 

 

ทั้งนี้ "นายรังสิมันต์" กล่าวว่า การเสนอญัตติเพื่ออภิปรายไม่ใช่การชี้ขาด แต่คือเสนอเรื่องไปยังรัฐบาล ทั้งนี้ไม่ก้าวล่วงในการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่หวังว่าจะผลทางกฎหมาย แตเพื่อให้มีผลผูกพันทางจิตสำนึก หากนายกฯ ฟังแล้วและมีสปีริตอาจจะลาออกเองก็ได้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่ประชุมยังคงถกเถียงในประเด็นดังกล่าว และมี ส.ส.พลังประชารัฐ เสนอญัตติให้พิจารณาตามวาระปกติ ขณะที่ ส.ส.อุทัยธานี พรรรคภูมิใจไทย "นายชาดา ไทยเศรษฐ์" กล่าวว่า ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง โดยเข้าใจเหตุผลของฝ่ายค้าน แต่รัฐบาลรู้สึกว่าเป็นเรื่องกดดันและหลอกด่า ขณะนี้ต้องคำนึงว่าจะเหมาะสมหรือก้าวล่วงศาลหรือไม่ อย่างไรก็ดีตามที่ตกลงคือจะพิจารณาญัตติเรื่องเงินกู้ ซึ่งเตรียมา แต่เมื่อเจอแบบนี้เหมือนถูกหลอก 

 

"ผมเข้าใจฝ่ายค้าน และขอเสนอทางออก คือให้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ต่อเรื่องนี้ ผมพร้อมร่วมลงชื่อด้วย เป็นชื่อแรก เพราะต้องการถามสามัญสำนึก" นายชาดา กล่าว

 

"สภาล่มอีก!"เหตุฝ่ายค้านอุ่นเครื่องยกประเด็น"8 ปี นายกฯ"อภิปราย"ลุงตู่"

 

ทั้งนี้หลังจากที่ ส.ส.ทั้ง 2 ฝ่ายอภิปรายเหตุผลพอสมควร นายศุภชัย เรียกส.ส.ให้แสดงตนก่อนลงมติ โดยผลปรากฎว่า มีผู้มาแสดงตนเป็นองค์ประชุม 124 คน ทำให้นายศุภชัย กล่าวว่า เมื่อแสดงตนแล้วไม่ครบองค์ประชุมที่ต้องใช้ 239 คน ผมขอปิดประชุม

 

อย่างไรก็ดี ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ขอหารือว่า "เครื่องหรือระบบอาจจะมีปัญหาก็ได้ เพราะจากที่มองด้วยสายตา พบว่ามีผู้ที่นั่งในห้องประชุมเยอะกว่า 124 คน" แต่การประชุมยังเดินหน้าปิดประชุมแล้วขณะที่ก่อนหน้านั้นส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายสุเทพ อู่อ้น เสนอให้พิจารณาค่าตอบแทนของ ส.ส. ที่พบว่าไม่ทำหน้าที่ด้วย 

 

ทั้งนี้จากภาพในห้องประชุม พบว่า ที่นั่งของฝั่งรัฐบาล พบว่ามี ส.ส.นั่งกันอย่างบางตา

 

ข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ มีการประเมินการประชุมสภาในวันนี้ว่า ฝ่ายค้านระดมพลแกนนำชุดใหญ่เพื่อเตรียม อภิปรายแบบกึ่งอภิปรายไม่ไว้วางใจขนาดย่อมๆ และประเมินกันเบื้องต้นว่าน่าจะโดน ส.ส.รัฐบาลประท้วงขัดจังหวะ

 

หนึ่งในประเด็นที่ฝ่ายค้านเตรียมหยิบยกขึ้นมาอภิปรายต้องการเทียบเคียงกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พลเอกประยุทธ์ ก็คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 61 กรณีคู่สมรสของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังคงถือหุ้น หรือมีหุ้นในกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัท เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ 

 

ปรากฏว่าคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการยังคงถือหุ้นของคู่สมรสรัฐมนตรี ไม่เข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะรัฐมนตรีดอน ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้บังคับ และมาตรา 264 ในบทเฉพาะกาลได้ยกเว้นคุณสมบัติบางประการของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี สำหรับคณะรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนและขณะที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ 

 

การได้ประโยชน์จากบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ที่ว่านี้ ก็เท่ากับศาลวินิจฉัยยอมรับการดำรงตำแหน่ง "ต่อเนื่อง" ของรัฐมนตรีดอน นั่นเอง  และกรณีแบบเดียวกันนี้ ศาลฯวินิจฉัยภายใต้หลักการเหมือนๆ กันกับรัฐมนตรีอีก 4 คนในยุคนั้น

 

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านจะหยิบยกมาอภิปราย คือ คำวินิจฉัยที่ 5/2561 เรื่องการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 


และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 7/2562 เรื่อง คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล / นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ / นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร / และ นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่

logoline