svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

วันนี้ "เอ๋ ปารีณา" ลุ้นระทึก ศาลฏีกานัดอ่านคำพิพากษาคดีรุกป่าขัดจริยธรรม

07 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ลุ้นระทึก ศาลฏีกานัดอ่านคำพิพากษาชี้ชะตาอนาคตทางการเมือง "เอ๋ ปารีณา" กระทำความผิดขัดต่อจริยธรรมทางการเมืองอย่างรุนแรงจากปมรุกป่าหรือไม่ ผลออกสองทาง ทั้ง กลับมาเป็นส.ส.ได้หรือจบแค่นี้ต้องเลือกตั้งซ่อม

 

ปฏิทินการเมืองต้องเอาปากกามาวงวันที่ 7 เม.ย.65  ถือเป็นอีกวันต้องลุ้นระทึกอนาคตทางการเมืองของ "เอ๋ ปารีณา ไกรคุปต์" ส.ส.เขตราชบุรี จากพรรคพลังประชารัฐ  เนื่องจาก ศาลฏีกานัดอ่านคำพิพากษา จากคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดปมเข้าครอบครองที่ดินจ.ราชบุรีโดยมิชอบอันเป็นเหตุให้ขัดต่อจริยธรรมทางการเมืองอย่างรุนแรง  โดยที่ป.ป.ช.ส่งคำร้องไปยังศาลฏีกาเพื่อพิจารณาโดยได้นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 7 เม.ย.นี้ เวลา 10.30 น. 


พลิกแฟ้มดูเส้นทางคดีดังกล่าว เริ่มต้นมาตั้งแต่ที่ "เอ๋ ปารีณา" ได้เป็นส.ส. ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทว่ามีผู้เข้าไปตรวจสอบพบว่า "เอ๋ ปารีณา" ได้แสดงรายการครอบครองที่ดินพื้นที่ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จำนวน 711 ไร่ อย่างผิดปกติ 

 

ต่อมามีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบกรณีครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบ และเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ ทำให้ ป.ป.ช. รับเรื่องไปพิจารณาจนมีการชี้มูลความผิดเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย

 

ทั้งนี้ คำแถลงของป.ป.ช.ต่อการชี้มูลความผิด "เอ๋ปารีณา" ระบุว่า ที่ดินดังกล่าว พบว่า ในช่วงปี 2545-2546 นายทวี ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี บิดาของ"ปารีณา" ได้เข้ามาประกอบกิจการเลี้ยงไก่ และระหว่างการครอบครองต่อมา "ปารีณา"ก็เข้ามาเป็นผู้ซื้อขายไฟฟ้าเพื่อใช้ประกอบกิจการปศุสัตว์ดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏว่า "ปารีณา"เข้ามายื่นคำขอใช้ที่ดินปฏิรูป แต่กลับมีพฤติการณ์ถือครอง และกระจายการถือครอง ก่อนดำเนินการถือครองในชื่อของ "ปารีณา"อีกครั้ง

 

ป.ป.ช.จึงเห็นว่า พฤติการณ์ของ"ปารีณา"ต้องการหลีกเลี่ยงมิให้ที่ดินดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน เพื่อประโยชน์ของธุรกิจตนหรือผลประโยชน์ส่วนตัวแต่ฝ่ายเดียว ไม่ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

 

ก่อนหน้านี้ นิวัติไชย เกษมมงคล โฆษก ป.ป.ช. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงมติ ป.ป.ช.ที่ชี้มูล"ปารีณา"ในคดีนี้ไว้ว่า สิ่งที่"ปารีณา"กระทำการมีเจตนาที่ต้องการหลีกเลี่ยงมิให้ที่ดินดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน เป็นการปิดโอกาสหรือหวงกั้นมิให้บุคคลอื่นเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน มุ่งแสวงหาประโยชน์จากที่ดินของรัฐ เพื่อประโยชน์ของธุรกิจตนหรือผลประโยชน์ส่วนตัวแต่ฝ่ายเดียว แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ยึดถือระเบียบหลักเกณฑ์กฎหมาย และไม่ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย

 

"การกระทำของปารีณา ผู้ถูกกล่าวหา ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2562 ข้อ 11 และข้อ 17"

 

คำแถลงจึงมีความน่าสนใจ เพราะกรณีของนางปารีณา ถือเป็นกรณีแรกที่ถูกชี้มูลความผิดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2562 ข้อ 11 และข้อ 17   

 

เมื่อป.ป.ช.ได้เสนอเรื่องมายังศาลฏีกาโดยได้รับคำร้องและมีคำสั่งให้ปารีณายุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.  ใช้เวลาไต่สวนคำร้องทั้งฝ่ายผู้ร้องคือ ป.ป.ช. และฝ่ายของ ปารีณาโดยนำพยานเข้าสู้คดีร่วม 10 ปาก  ทั้งเจ้าของที่ดินเดิม-เจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดิน และเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เพื่อยืนยันต่อศาลฏีกาว่า ไม่ได้บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนตามที่ถูกกล่าวหา แต่เป็นการรับมรดกที่ดินส่งต่อมาจากบิดานายทวี ไกรคุปต์ ตั้งแต่ก่อนที่จะประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน

 

อย่างไรก็ดี เมื่อการไต่สวนครบถ้วนกระบวนความ ศาลฏีกาได้นัดอ่านคำพิพากษาชี้ชะตา "ปารีณา" ในวันพฤหัสบดีที่ 7 เม.ย.นี้เวลา 10.30 น. โดยในวันเดียวกัน "ปารีณา"ได้มอบหมายทนายความมาเป็นตัวแทนฟังคำพิพากษา ขณะที่ปารีณาจะขอรอลุ้นฟังคำพิพากษาอยู่ที่บ้านเกิดราชบุรี  

 

คราวนี้ มีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อ คือว่า ผลการพิพากษาจะออกมาเป็นสองแนวทาง 
 

แนวทางแรก  หากศาลฏีกา เห็นว่า ปารีณา ไม่ได้มีพฤติการณ์ตามสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ก็คือยกคำร้อง  ส่งผลให้"ปารีณา"จะได้กลับมาเป็น ส.ส. อีกครั้ง หลังจากหยุดปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่วันที่ศาลฏีการับคำร้อง เมื่อวันที่ 25 มี.ค.64  ซึ่งการได้กลับมาเป็นส.ส.อย่างเต็มตัวย่อมเติมเสียงให้พรรคพลังประชารัฐและรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียง 

 

แนวทางที่สอง  ตรงข้ามกับแนวทางแรก  กล่าวคือ หากศาลฏีกาเห็นว่า "ปารีณา" ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง มีการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม ต้องไปดูว่าในคำพิพากษาของศาลฎีกาจะออกมาอย่างไร

 

เนื่องจาก  พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 81 บัญญัติว่า หากศาลฎีกา พิพากษาว่ามีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องคำพิพากษานั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้ หากผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง จะไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ

 

เพราะฉะนั้น นอกจากทำให้"ปารีณา" พ้นจากความเป็นส.ส. ยังต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งตลอดไป ไม่สามารถลงเล่นการเมืองได้ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น และทำให้ต้องมีการเลือกตั้งซ่อมที่ราชบุรีตามมาทันที

 

7 เม.ย.65  ศาลฏีกาจะอ่านคำพิพากษาให้"ปารีณา"ไปต่อหรือหยุดอยู่แค่นี้กับเส้นทางการเมือง ต้องติดตามอย่างระทึก 

logoline