svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ปฏิวัติรัฐประหาร..."หายนะ"ของประเทศ

02 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ดูๆ ไป การเมืองไทยไม่ได้ถึงทางตีบ แต่คนที่กำลังจะถึงทางตัน หากมองตามสถานการณ์และคะแนนเลือกตั้งหลักสี่-จตุจักร น่าจะเป็นรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ซึ่งต้องไม่ลืมว่า การเมืองไทยเชื่อมโยงหลายชั้น หากมีการเลือกตั้ง และฝ่ายนายกฯ พ่าย อาจไม่ได้แพ้เฉพาะ "บิ๊กตู่" แต่อำนาจจะเปลี่ยนมือ และอาจเปลี่ยนแปลงประเทศไปไกล จุดนี้เองที่ทำให้ใครหลายคนเชื่อว่าจะมีการปฏิวัติรัฐประหารกันอีกรอบ 

 

คนที่ออกมาปูดก่อนใครในแวดวงการเมือง คือ หมอชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาบอกเมื่อวันก่อนว่า "ได้กลิ่นรัฐประหาร"

 

แต่คนที่ทำนายไว้ก่อนหน้านั้น และออกมาย้ำอีกครั้งในวันนี้ คือ "ซินแสเข่ง" อาจารย์ ชนม์ทรรศน์ ฤทัยผ่อง ผู้อำนวยการสถาบันโหราศาสตร์พยากรณ์แห่งประเทศไทย

 

โดย "ซินแสเข่ง" ได้ฟันธงเอาไว้น่าตกใจ

 

-เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.จะยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้

 

-เลือกตั้งใหญ่ไม่เกิดขึ้นเช่นกัน

 

-ไม่มีการยุบสภาฯ แต่จะเกิดปฏิวัติรัฐประหารมากกว่า

 

-ให้จับตาเดือน เมษาฯ พฤษภาฯ และสิงหาคม

 

-"บิ๊กตู่"จะไปอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น

 

เรื่องปฏิวัติรัฐบาล แม้ "ข่าวข้นคนข่าว" จะคุยกับฝ่ายความมั่นคง รวมถึงนักวิชาการ ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีเงื่อนไขปฏิวัติ แต่ก็อย่างที่รู้ๆ กัน ว่าเรื่องแบบนี้

 

***คนพูดไม่ได้ทำ และคนทำก็ไม่ได้คิดเหมือนคนพูด

 

***ฉะนั้นโอกาสการรัฐประหารจึงเกิดขึ้นได้เสมอ

 

ไม่แน่ชัดว่าเป็นความบังเอิญหรือไม่ที่ "ซินแสเข่ง" มาพูดเรื่องการปฏิวัติที่อาจจะเกิดขึ้นในไทย ในวันครบ 1 ปีการรัฐประหารในเมียนมา

 

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ "ข่าวข้นคนข่าว" ว่า 1 ขวบปีของการรัฐประหารในเมียนมา จะเปลี่ยนความคิดของนักรัฐประหารในไทยและในภูมิภาคนี้ ว่าการทำรัฐประหารไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดอีกต่อไป

 

ศ.ดร.สุรชาติ ยังสะท้อนภาพความคิดของคณะรัฐประหารของไทยในปี 49 กับปี 57 ที่มองว่าการทำรัฐประหาร ไม่ใช่เรื่องยาก เป็นเพราะ

 

-ฝ่ายต่อต้านบนถนนไม่เข้มแข็งมากพอ

 

-ไม่ต้องกลัวพรรคฝ่ายค้าน เพราะรัฐบาลทหารสามารถใช้อำนาจจัดการกับ ส.ส. ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านได้

 

-ใช้อำนาจยุบพรรคที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามได้

 

-สร้าง "อาณาจักรแห่งความกลัว" ผ่านอำนาจทหาร ตำรวจ และกฎหมายต่างๆ ทำให้เกิดสภาพ"ยอมจำนน"

แต่การรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งครบ 1 ปีพอดี เมื่อสำรวจสถานการณ์ในรอบปีแล้ว จะพบว่า

 

1.กองทัพเมียนมายึดอำนาจได้สำเร็จ แต่กลับไม่สามารถปกครองประเทศได้

 

2.ผู้นำทหารยังไม่สามารถกระชับอำนาจทางการเมืองและควบคุมสังคมได้จริง

 

3.ผู้นำทหารต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างไม่เกรงกลัว และขยายตัวออกไปในสังคมอย่างกว้างขวาง

 

4.การต่อต้านถูกยกระดับทางการเมืองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยการจัดตั้ง "รัฐบาลพลัดถิ่น" หรือที่เรียกว่า "รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ" (The National Unity Government หรือ NUG)

 

5.รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ มีภารกิจขับเคลื่อนการต่อสู้ในเวทีสากล รวมทั้งในเวทียูเอ็น ทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างภายในกับภายนอกอย่างชัดเจน และทำให้รัฐบาลทหารตกเป็นจำเลยในเวทีระหว่างประเทศ

 

6.คนหนุ่มสาวชาวเมียนมาส่วนหนึ่งเดินทางเข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยในชนบท และยังได้รับการฝึกอาวุธจากกองกำลังดังกล่าว ทำให้การต่อต้านรัฐบาลทหารในอนาคต จะมีมิติของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธมากขึ้น

 

7.ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกองกำลังฝ่ายรัฐ เป็นประเด็นที่รัฐบาลทหารถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก พลอยทำให้จีนที่สนับสนุนรัฐบาลทหารพลอยตกเป็น "จำเลย" ไปด้วย

 

8.อาเซียนพยายามที่จะแสดงบทบาทใหม่บางประการ เช่น การออกมติเพื่อหาทางคลี่คลายปัญหาความรุนแรงในเมียนมา และจัดตั้ง "ทูตพิเศษ" เข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบสถานการณ์ความรุนแรง แทนหลักการ "ไม่แทรกแซงกิจการภายใน" และวางเฉยกับการรัฐประหารทุกครั้งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

 

9.แนวโน้มสถานการณ์ นำไปสู่ "สงครามกลางเมือง" ได้ในอนาคตอันใกล้ และอาจนำไปสู่สภาวะ "รัฐล้มเหลว" ได้

 

สรุปก็คือ 1 ปีภายใต้รัฐบาลทหารพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า การรัฐประหารไม่ใช่หนทางในการสร้างความหวังให้แก่ผู้คนในเมียนมา เป็น 1 ปีของ "ทุพภิกขภัยแห่งอำนาจ" สำหรับผู้นำทหาร เป็น 1 ปีที่ผู้นำกองทัพพาสังคมเข้าสู่ "ยุคมิคสัญญี" ได้อย่างน่าใจหาย และเป็น 1 ปีที่พิสูจน์อย่างชัดเจนว่า รัฐประหาร คือ "หายนะ" ของประเทศ !

 

อีกความบังเอิญหนึ่งก็คือ วันนี้จะครบ 8 ปี ปฏิบัติการขัดขวางการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ของกลุ่ม กปปส. เพื่อหวังให้มีการ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" เรื่องนี้ทางพรรคเพื่อไทยหยิบมาเป็นประเด็นข่าว และเตือนความทรงจำของสังคม

 

เหตุการณ์ในวันนั้น จะผิดหรือถูก "ข่าวข้นคนข่าว" ไม่ขอเป็นผู้ตัดสิน เพราะต้องให้กฎหมายตัดสิน ซึ่งศาลก็ได้พิพากษาคดีบางส่วนในศาลชั้นต้นแล้ว แน่นอนว่าการกระทำในวันนั้น ผู้ที่กระทำ ต้องการให้เกิดการปฏิรูปประเทศขนานใหญ่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเวลาต่อมา คือ การรัฐประหาร เมื่อ 22 พ.ค. 57 และคณะผู้ก่อการรัฐประหาร ก็มีอำนาจบริหารประเทศ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 1 ครั้ง ภายใต้กติกาที่กลไกของคณะรัฐประหารเขียนขึ้นเอง

 

คำถามคือการรัฐประหารในประเทศไทย ภายใต้ความหวัง "ปฏิรูปประเทศ" ของประชาชน ผ่านมาเกือบ 8 ปีแล้ว การปฏิรูปเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และประเทศจะมีรัฐประหารกันอีกแล้วหรือ เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องร่วมกันพิจารณาและตัดสินอนาคตประเทศ

 

logoline