svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“เศรษฐพงค์” ยันออกใบอนุญาต “ไทยคม” ปี 55 รอบคอบ-รัดกุม ทำตาม กม.

“เศรษฐพงค์” ยันออกใบอนุญาต “ไทยคม” เมื่อปี 2555 รอบคอบ-รัดกุม ทำตาม กม.-หลักเกณฑ์ทุกประการ ไร้เอื้อประโยชน์เอกชน แจงเวลานั้นจำเป็นต้องส่งดาวเทียมขึ้นไปรักษาวงโคจร หลังไทยคม 1 ปลดระวางระบุ กสทช.ใช้เวลา 9 เดือนพิจารณาละเอียดยิบ

22 กันยายน 2564 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะอดีตรองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และอดีตประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยถึงกรณีมีชื่อร่วมอยู่ในกลุ่มบุคคลที่ถูกฟ้องร้อง จากกรณีการออกใบอนุญาตการประกิจการดาวเทียมสื่อสารให้แก่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2555 ไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า เรื่องนี้ต้องย้อนไปเมื่อช่วงเดือน ม.ค.2554 ที่ดาวเทียมไทยคม 1 ปลดระวาง โดยดาวเทียมไทยคม 1 ให้บริการตามสัญญาสัมปทานอยู่ในวงโคจรตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก ซึ่งประเทศไทยได้รับสิทธิวงโคจรจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งหากไม่มีการส่งดาวเทียมขึ้นไปรักษาวงโคจรภายใน 2 ปี ประเทศไทยอาจถูกยกเลิกสิทธิการใช้วงโคจรดังกล่าว จนเมื่อเดือน ก.ย.2554 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ขณะนั้น ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการรักษาตำแหน่งวงโคจร 120 องศาตะวันออก และมอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ไอซีที) ขณะนั้นประสานมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อให้ออกใบอนุญาตให้แก่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับมอบหมายจาก ครม. เนื่องจากหน่วยงานของรัฐอย่าง บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT Telecom ในขณะนั้น ยังไม่มีศักยภาพในการดำเนินการ

“ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการยิงดาวเทียมขึ้นไปเพื่อรักษาสิทธิ์วงโคจร หรือ Filing ซึ่งมีการกำหนดว่า หากไม่มีดาวเทียมขึ้นให้บริการภายใน 2 ปี ITU สามารถยกเลิกการรับรองวงโคจร และประเทศอื่นสามารถขอเข้าใช้วงโคจรตำแหน่ง 120 องศาตะวันออกแทนได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อประเทศ เพราะหากปล่อยให้ขาดจากสิทธิ์วงโคจร กว่าจะขอสิทธิ์ใหม่นั้นต้องมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและต้องใช้เวลานาน” พ.อ.เศรษฐพงค์ ระบุ

 

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่ กสทช. โดย กทค. ที่ตนเป็นประธานอยู่ได้รับเรื่องจากกระทรวงไอซีที ก็ได้มีการพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบและรัดกุม โดยยึดข้อกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 และหลักเกณฑ์ต่างๆอย่างเคร่งครัด โดยใช้เวลากว่า 9 เดือน จึงสามารถออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ให้แก่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2555 โดยระบุด้วยว่าต้องปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลที่มีผลบังคับใช้ในอนาคตด้วย ด้วยระยะเวลาที่รอบคอบและรัดกุม ทำให้รัฐบาลไทย โดยกระทรวงไอซีที ต้องขอขยายระยะเวลาในการยื่นรักษาสิทธิตำแหน่งวงโคจรต่อ ITU ด้วยซ้ำ “เศรษฐพงค์” ยันออกใบอนุญาต “ไทยคม” ปี 55 รอบคอบ-รัดกุม ทำตาม กม.

พ.อ.เศรษฐพงค์ ระบุถึงเหตุผลในการใช้ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 เพื่อออกใบอนุญาตแก่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) แทนที่จะเป็น พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบ กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ว่า เนื่องจากมีการตีความว่า กสทช.ไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.กสทช.ปี 2553 เพื่อจัดประมูลคลื่นความถี่ในอวกาศ และจัดประมูลวงโคจรดาวเทียมได้ เพราะอาจเป็นการขยายอำนาจตัวเอง รวมทั้งเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 ก็เพื่อเป็นการยกเลิกการผูกขาดในกิจการโทรคมนาคมโดยรัฐในอดีต ทำให้เอกชนมีสิทธิขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมได้

 

“กทค.อนุญาตให้ บมจ.ไทยคม ให้บริการโครงข่ายผ่านดาวเทียม เป็นใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 ไม่ใช่การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เหมือนคลื่น 3G 4G หรือ 5G ย่านต่างๆ ที่เข้ามาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.กสทช. ซึ่งต้องใช้วิธีการประมูลเพื่อออกใบอนุญาต” พ.อ.เศรษฐพงค์ ระบุ

 

พ.อ.เศรษฐพงค์ ยังได้กล่าวถึงประเด็นที่มีการเชื่อมโยงว่าเป็นวงโคจรดาวเทียมเป็นเรื่องความมั่นคง และอธิปไตยของชาติว่า เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจว่า ตามธรรมนูญของ ITU ระบุว่า วงโคจรดาวเทียมและความถี่ในอวกาศเป็นทรัพยากรร่วมของมนุษยชาติ ไม่ได้อยู่ภายใต้อธิปไตยของรัฐใดรัฐหนึ่ง ประเทศไทยมีสิทธิในตำแหน่งวงโคจร 120 องศาตะวันออก รวมทั้งตำแหน่งวงโคจรอื่นๆ ตามการจัดสรรของ ITU เท่านั้น ไม่ได้ถือสิทธิความเป็นเจ้าของแต่อย่างใด ดังนั้นเรื่องใบอนุญาติประกอบกิจการดาวเทียม จึงเป็นคนละเรื่องกับการรักษาอธิปไตยของชาติ

 

“กรณีที่สัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคมสิ้นสุดในวันที่ 10 ก.ย.64 นี้นั้น เป็นสัญญาสัมปทานอายุ 30 ปี ที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2534 โดยกระทรวงคมนาคมที่ดูแลกิจการโทรคมนาคมในตอนนั้น หลังสิ้นสุดสัญญาที่ต้องมีการส่งมอบสินทรัพย์ต่างๆนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงดีอีเอส ส่วน กสทช.ดูแลเฉพาะสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรเท่านั้น” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว