svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

อังกฤษ-อียู บรรลุข้อตกลงรีเซ็ตความสัมพันธ์การค้า-การทหาร หลังเบร็กซิต

อังกฤษและอียูบรรลุข้อตกลงรีเซ็ตความสัมพันธ์ทางการทหารและการค้าฉบับสำคัญที่สุดนับจากเบร็กซิต หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างความปั่นป่วนให้กับระเบียบโลก ทำให้สองฝ่ายกลับมาจับมือกันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ของสหราชอาณาจักร พร้อมด้วยอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และอันโตนิโอ คอสตา ประธานคณะมนตรียุโรป แถลงข่าวที่กรุงลอนดอนในวันจันทร์ (19 พฤษภาคม) โดยนายคอสตา บอกว่า สองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงที่เป็นบันทึกหน้าใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ครั้งใหม่ที่เข้มแข็งขึ้น

และสตาร์เมอร์ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการประชุมสุดยอดระหว่างสหราชอาณาจักรและอียูครั้งแรก เป็นยุคใหม่ของความสัมพันธ์ และข้อตกลงได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยอังกฤษสามารถเข้าถึงตลาดอียูได้อย่างที่ไม่มีประเทศนอกอียู และสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ เอฟตา เคยได้มาก่อน

ข้อตกลงนี้เป็นการกำหนดความสัมพันธ์ทางการค้าและการทหารที่สำคัญที่สุดนับจากสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากอียูอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563ข้อตกลงครอบคลุมหลายเรื่อง และคาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้กับเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรอีกเกือบ 9,000 ล้านปอนด์ ภายในปี 2573

อังกฤษ-อียู บรรลุข้อตกลงรีเซ็ตความสัมพันธ์การค้า-การทหาร หลังเบร็กซิต

ภายใต้ข้อตกลงนี้สหราชอาณาจักรจะยังคงให้สิทธิเรือประมงอียูเข้าสู่น่านน้ำได้จนถึงปี 2581, ลดระเบียบและขั้นตอนสำหรับผู้ผลิตอาหารและสินค้าเกษตร, จัดทำข้อตกลงการทหารและความมั่นคงสหราชอาณาจักรและอียู อย่างเป็นทางการ ที่จะปูทางให้บริษัทผลิตอาวุธในสหราชอาณาจักรเข้าถึงกองทุนมูลค่า 150,000 ล้านปอนด์ของอียู ที่จัดสรรเงินกู้ให้กับโครงการด้านการป้องกันประเทศ และนักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักรสามารถสแกนหนังสือเดินทางผ่าน  e-gate  ในสนามบินในยุโรปได้จำนวนมากขึ้น

ข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงการค้าฉบับที่ 3 ที่อังกฤษลงนามในเดือนนี้ หลังจากบรรลุข้อตกลงกับอินเดียและสหรัฐฯ และแม้ข้อตกลงยังไม่อาจส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญทันที แต่ช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่ภาคธุรกิจ ที่จะดึงดูดการลงทุนได้เพิ่มขึ้น

และเนื่องจากการประกาศกำแพงภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้รัฐบาลต่าง ๆ ทบทวนความสัมพันธ์ทั้งทางการค้า การทหาร และความมั่นคงใหม่ และทำให้ผู้นำชาติยุโรปหันมาใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น

แต่เคมี บาเดนอช หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของอังกฤษ กล่าวหาว่า ข้อตกลงฉบับนี้เป็นการยอมจำนน และนายกรัฐมนตรีสตาร์เมอร์กำลังทำให้ประเทศถอยหลัง

และบอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีที่สนับสนุนเบร็กซิต วิจารณ์ว่า สตาร์เมอร์กำลังทำให้อังกฤษเสียผลประโยชน์ด้านการประมง และทำให้ทะเลอังกฤษถูกปล้น

ข้อตกลงหลังเบร็กซิตฉบับก่อนหน้านี้ให้สิทธิเรือประมงอียูเข้าจับปลาในน่านน้ำอังกฤษ กำลังจะหมดอายุในสิ้นเดือนมิถุนายน 2569 แต่ข้อตกลงใหม่ขยายเวลาถึงปี 2581