ในขณะที่สำนักพระราชวังบักกิมแฮมยังไม่ได้ยืนยันว่า พระเจ้าชาร์ลสที่ 3 พระชนมายุ 74 พรรษา จะทรงสวมฉลองพระองค์แบบใด แต่เชื่อว่าจะทรงเลือกสวมเครื่องแบบทหารแทนที่จะสวมฉลองพระองค์ตามมาตรฐานพระราชประเพณีที่สืบทอดกันมา เช่น จะไม่ทรงสวมถุงเท้าผ้าไหมหรือกางเกงทรงพองด้านบนที่ดู "เชยเกินไป" เพราะทรงมีพระราชประสงค์ให้พิธีนี้สะท้อนถึง "ระบอบกษัตริย์สมัยใหม่ในศตวรรษที่ 21"
มีรายงานว่าพระเจ้าชาร์ลสทรงพอพระทัยที่จะสวมฉลองพระองค์แบบเดียวกับพระอัยกา (ตา) และพระปัยกา (ตาทวด) แต่บรรดาที่ปรึกษาอาวุโสได้กราบทูลว่าไม่ควรเลือกฉลองพระองค์เหล่านั้น ทำให้คาดการณ์กันว่าพระองค์จะทรงสวมเครื่องแบบผู้บัญชาการกองเรือรบของอังกฤษ (Admiral of the Fleet) ที่ทรงสวมในพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภาประจำปี 2022
พระเจ้าชาร์ลสยัง จะทรงสวมมงกุฎเซนต์ เอ็ดเวิร์ด (St Edward) ที่ทำขึ้นเมื่อปี 1661 เพื่อใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลสที่ 2 โดยตัวมงกุฎทำจากทองคำแท้ และประดับอัญมณีมากกว่า 400 เม็ด รวมทั้งแซฟไฟร์ 6 เม็ด และทับทิม 12 เม็ด มีน้ำหนักรวม 2.23 กิโลกรัม แต่พิธีการเดิมที่ยังคงไว้คือ พระเจ้าชาร์ลสที่ 3 และราชินีคามิลลา (Queen Consort) จะทรงประทับราชรถม้าสีทอง (Gold State Coach) จากพระราชวังบักกิงแฮมไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้จัดพิธีสำคัญมานานนับพันปี
คาดว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทั่วโลกจับจ้องมากที่สุด ท่ามกลางความคาดหมายว่าจะมีพสกนิกรจำนวนมากที่รอถวายพระพรตลอดเส้นทาง ที่จะมีทหารจากทุกเหล่าทัพ ทั้งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ทั้งชายและหญิงยืนประจำการอยู่ด้วย
เจ้าชายวิลเลียมและพระชายาแคทเธอรีน เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ก็ได้รับการคาดหมายว่าจะทรงเข้าร่วมพร้อมหน้าพระโอรสและพระธิดา ได้แก่ เจ้าชายจอร์จ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ และเจ้าชายหลุยส์ ส่วนเจ้าชายแฮร์รีกับพระชายาเมแกน ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ กับโอรสและธิดาคือ อาร์ชีและลิลีเบต ยังไม่ชัดเจนว่าจะเข้าร่วมหรือไม่