การขาดแคลนหัวหอมในฟิลิปปินส์ ที่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ เรียกว่า "สถานการณ์ฉุกเฉิน" ทำให้ราคาหัวหอมพุ่งทะยานไม่หยุด บรรดาร้านอาหารพากันตัดหัวหอมที่ถือเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารหลายชนิดออกเพราะสู้ต้นทุนไม่ไหว ขณะที่ชาวฟิลิปปินส์บริโภคหัวหอมเดือนละ 17,000 ตัน จึงนำไปสู่การลักลอบขนหัวหอมเข้าประเทศ โดยเมื่อต้นเดือนศุลกากรฟิลิปปินส์ยึดหัวหอมที่ลักลอบนำเข้าจากจีนคิดเป็นมูลค่า 153 ล้านเปโซ (กว่า 95 ล้านบาท)
มีบางคนเปรียบเทียบหัวหอมกับทองคำ ที่จัดเป็นสินค้า "luxury" ในฟิลิปปินส์ ก็เพราะมีภาพเจ้าสาวคนหนึ่งถือช่อหัวหอมเข้าพิธีแต่งงานในโบสถ์กลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดีย ซึ่งทั้งคู่ได้กันเงินไว้ 15,000 เปโซ เพื่อเป็นค่าดอกไม้ แต่ตอนนั้นราคาหัวหอมพุ่งขึ้นไปกระสอบละ 8,000 เปโซ ทั้งคู่ก็เลยได้ไอเดียว่าแทนที่จะใช้ดอกไม้ที่มีแต่จะเหี่ยวเฉาและต้องโยนทิ้ง มาใช้หัวหอมที่เก็บได้นานและกำลังเป็นที่ต้องการจะดีกว่า สถานการณ์นี้สะท้อนภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในรอบ 14 ปี ตั้งแต่เดือนที่แล้ว เมื่อหัวหอมครองสัดส่วน 0.3% ของ consumer prices ที่เพิ่มขึ้น 8.1% ที่ส่งผลให้ประธานาธิบดีมาร์กอสต้องอนุมัติการนำเข้าหัวหอม (ทั้งหอมหัวใหญ่และหอมแดง) 21,060 ตัน และเที่ยวแรกเพิ่งจะเดินทางถึงเมื่อปลายเดือนที่แล้ว
ราคาหัวหอมพุ่งแตะกิโลกรัมละ 700 เปโซ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งแพงกว่าเนื้อสัตว์ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว เนื้อหมูหรือเนื้อไก่ นักวิชาการพากันชี้ว่าเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย นอกจากหัวหอมแล้วฟิลิปปินส์ยังเผชิญวิกฤตราคาไข่และน้ำตาลด้วย เรื่องนี้กลายเป็นวาระสำญในสภาฯ ซึ่งวุฒิสมาชิกเกรซ โป บอกว่า "ก่อนหน้านี้น้ำตาล พอมาตอนนี้หัวหอม เราคงต้องลงเอยด้วยการอภิปรายทุกอย่างที่อยู่ในครัว"
นักการเมืองบางคนกล่าวโทษพวกพ่อค้าคนกลางที่ปั่นราคา โดย ส.ส.สเตลลา ควิมโบ ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้วยบอกว่า ถ้าอภิปรายจบแล้วไม่สามารถอธิบายเรื่องราคาที่พุ่งขึ้นได้ คำตอบเดียวก็คือ "พ่อค้าคนกลาง" ซึ่งวิกฤตนี้เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบหนักต่อมาร์กอสที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีเกษตรฯ ด้วย เพราะเจอทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ต้อนให้ตอบคำถามและบอกให้หาคนมาทำหน้าที่แทน
วิกฤตหัวหอมของฟิลิปปินส์ได้รับแรงกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่โลกเผชิญอยู่ และเป็นปัญหาที่มาจากหลายสาเหตุรวมทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ, การขาดแคลนห้องเย็นและปัญหาห่วงโซ่อุปทาน
Time หนึ่งในสื่อที่ทรงอิทธิพลของโลก ระบุว่าภาคธุรกิจได้ตำหนิกระทรวงเกษตรที่ไร้ความสามารถในการจัดทำ "ประมาณการอุปทานที่แม่นยำ" (accurate supply projections) แม้จะมีคำเตือนการขาดแคลนหัวหอมและกระเทียมในเดือนสิงหาคมปีที่แล้วก็ตาม ขณะที่นิโคลัส มาพา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ ING Bank ระบุว่า ย้อนกลับไปในเดือนสิงหาคม กระทรวงเกษตรฯ ได้คาดการณ์ความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการขาดแคลนหัวหอม หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือนฟิลิปปินส์ก็เผชิญพายุที่รุนแรงถึง 2 ลูก ที่สร้างความเสียหายให้พื้นที่เพาะปลูก แต่เจ้าหน้าที่ด้านการเกษตรชี้ว่า สาเหตุที่แท้จริงมาจากพวกที่กักตุนหัวหอม ที่ส่งผลกระทบต่ออุปทานและทำให้ราคาทะยานขึ้น ส่วนภัยพิบัติทางธรรมชาติเพียงแค่วิกฤตเฉพาะหน้า ซึ่งสวนทางกับความเห็นของนักวิชาการที่มองว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติคือตัวการที่ทำให้ผลผลิตหัวหอมลดลง
เว็บไซต์ข่าว Rappler กลับรายงานว่า แม้ราคาหัวหอมในตลาดจะแพงมาก แต่บรรดาเกษตรกรกลับได้รับผลตอบแทนน้อยมาก พวกเขายังกลัวด้วยว่า การนำเข้าหัวหอมเพื่อกดราคาในประเทศจะยิ่งทำร้ายพวกเขายิ่งขึ้น แม้กระทรวงเกษตรฯ จะรับปากว่าจะจำกัดผลกระทบต่อเกษตรกรในท้องถิ่นให้น้อยที่สุดก็ตาม
เลโอนาร์โด ลันโซนา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ของ Ateneo de Manila University ในกรุงมะนิลา ตำหนิว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรัฐบาลที่ละเลยปล่อยให้พ่อค้าคนกลางเข้าควบคุมราคา ไม่ใช่เพราะการขาดแคลนหัวหอม ท่ามกลางความคาดหวังว่าราคาอาจลดลงอย่างฮวบฮาบเมื่อหัวหอมนำเข้ากระจายสู่ตลาด