svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ภารกิจของ "สุนัขกู้ภัย" ในพื้นที่แผ่นดินไหว (คลิป)

ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยหลังภัยพิบัติรุนแรงจากแผ่นดินไหวคร่อมดินแดนตุรกีและซีเรีย ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสิ่งที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้มนุษย์และเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ คือ "สุนัข" เพราะความสามารถที่เหนือมนุษย์ โดยเฉพาะประสาทสัมผัสอย่างหูและจมูกของพวกมันนั่นเอง

หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ตามด้วยอาฟเตอร์ช็อกรุนแรงต่อเนื่อง ที่ส่งผลให้โครงสร้างอาคารต่าง ๆ ทนไม่ไหวพังถล่มลงมา เศษซากปรักหักพังทับถมบนร่างมนุษย์ทั้่งผู้ใหญ่และเด็กที่กำลังนอนหลับสนิท ซึ่งยากต่อการเข้าไปค้นหาและกู้ภัย มีเพียงทางเดียวเท่านั้นที่จะรู้ว่าพวกเขาถูกฝังทั้งเป็นอยู่ที่ไหนบ้าง นั่นคือการใช้ "สุนัขกู้ภัย" ที่มีประสิทธิภาพเหนือมนุษย์ ด้วยเพราะขนาดลำตัวและการเคลื่อนไหวที่คล่องตัว ตลอดจนความสามารถในการได้ยินและการดมกลิ่น...



หลังเกิดแผ่นดินไหว เจ้าถิ่นอย่างสุนัขกู้ภัยของตุรกีต้องทำงานหนักหนาสาหัสอย่างที่สุดและต่อเนื่องยาวนานถึง 30 ชั่วโมง บางตัวถึงกับล้มหมดสติด้วยความเหนื่อยล้า แต่ท่ามกลางความยากลำบากก็ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อนานาชาติยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (Urban Search and Rescue) หรือ USAR ที่พาสุนัขกู้ภัยมาร่วมปฏิบัติการด้วย 

ภารกิจของ \"สุนัขกู้ภัย\" ในพื้นที่แผ่นดินไหว (คลิป)

สำหรับหน่วยงานที่ต้องคลุกคลีกับสุนัข พวกเขายกให้พวกมันเป็น "ฮีโร่" และประเทศที่พาฮีโร่เหล่านี้มา รวมทั้งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) โดย เยอรมนีที่ส่งทีมกู้ภัยโด่งดังในระดับสากลอย่าง German International Search and Rescue (I.S.A.R.) ไปพร้อมกับสุนัข 7 ตัว, สหรัฐฯ พันธมิตรหลักส่งไป 6 ตัว, โปแลนด์ 8 ตัว, กรีซ 2 ตัว, สวิตเซอร์แลนด์ 14 ตัว, โครเอเชีย 10 ตัว ไต้หวัน 5 ตัว ส่วนอังกฤษ, สาธารณรัฐเช็กและอินเดีย ไม่ได้ระบุจำนวน 

แต่ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือเม็กซิโก ที่ส่งไปทั้งหมด 16 ตัว และหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งสำหรับเม็กซิโก รวมทั้งแก๊งตัวตึงแห่งการกู้ภัยได้แก่ Julia, Ecko, Orly, Timba, Rex และ July ซึ่งพวกมันถือเป็นสัญลักษณ์และสมบัติของชาติ ส่วนปฏิบัติการกู้ภัยในตุรกีครั้งนี้ ถือเป็น "spirit of Frida" ที่เป็นการรำลึกถึง "Frida" สุนัขกู้ภัยเพศเมียสายพันธุ์ Labrador Retriever สีเหลืองนวล ของกองทัพเรือ ที่มีบทบาทในการค้นหาและกู้ภัย ตอนที่เกิดแผ่นดินไหว เมื่อปี 2017 และนับตั้งแต่เริ่มประจำการจนกระทั่งปลดประจำการ (2553-2562) มันสามารถช่วยชีวิตมนุษย์ได้ 12 คน ค้นหาศพได้ 43 ศพ ก่อนจะตายไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 ขณะมีอายุได้ 13 ปี ภาพของฟรีดาที่คนยังประทับใจไม่ลืมคือ สวมแว่นกันลมและรองเท้าบู้ท มันเพิ่งตายเมื่อปี 2565 ทางการเม็กซิโกได้ทำอนุสาวรีย์ขนาดเท่าตัวจริงให้มัน และตั้งอยู่ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ 

ภารกิจของ \"สุนัขกู้ภัย\" ในพื้นที่แผ่นดินไหว (คลิป)

คุณสมบัติของสุนัขค้นหาและกู้ภัย (Search and Rescue Dog) พวกมันต้องผ่านการฝึกมาให้ไวต่อการดมกลิ่นมนุษย์มาก ทำให้สามารถได้กลิ่นแม้ว่าคน ๆ นั้นจะถูกฝังอยู่ใต้ซากตึก ใต้ดินถล่มหรือแม้กระทั่งใต้น้ำ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าสุนัขกู้ภัยหนึ่งตัวสามารถทำงานได้เทียบเท่าคน 20-30 คน 

ภารกิจของ \"สุนัขกู้ภัย\" ในพื้นที่แผ่นดินไหว (คลิป)

สุนัขถูกฝึกให้มีหน้าที่แตกต่างกัน โดยหลัก ๆ แบ่งออกได้เป็น 8 ประเภท

  • Tracking : เน้นดมเพื่อตามกลิ่นไปหาเป้าหมาย ใช้ในกรณีที่มีคนหายตัวไป
  • Air Scent : เน้นดมกลิ่นเพื่อค้นหามนุษย์ในบริเวณใกล้เคียง เป็นการดมกลิ่นจากในอากาศเพื่อค้นหาเป็นวงกว้าง
  • Cadaver : เน้นดมกลิ่นเพื่อค้นหาศพหรืออวัยวะมนุษย์
  • Water : เน้นช่วยเหลือและค้นหาคนจมน้ำโดยเฉพาะ
  • Urban Disaster : เป็นภารกิจที่เสี่ยงมากที่สุด เพราะเน้นช่วยชีวิตคนที่อยู่ใต้ซากตึก
  • Wilderness : เน้นค้นหาผู้สูญหายในพื้นที่รกร้างขนาดใหญ่ เช่น ในป่าหรือทุ่งหญ้าที่ห่างไกล
  • Avalanche : เน้นช่วยเหลือมนุษย์จากภัยธรรมชาติ มีความชำนาญด้านการค้นหามนุษย์ที่ติดอยู่ในภัยดินถล่มหรือมีสิ่งกลบทับ
  • Evidence : เน้นหาหลักฐานที่มีกลิ่นมนุษย์ติดอยู่ เช่น เสื้อผ้า เพื่อใช้หาร่องรอยคนที่สูญหายหรือคนร้าย

พวกมันต้องใช้ชีวิตอยู่กับครูฝึกตลอดเวลา และต้องฝึกประมาณ 600 ชม. กว่าจะสามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ ต้องผ่านการทดสอบเพื่อให้ได้ทักษะและความสามารถเฉพาะตัวสูง ตามมาตรฐานของ "International Rescue Dog Organisation" (IRO) ซึ่งเป็นหน่วยงานประเมินสุนัขค้นหาประเภทต่าง ๆ ให้ได้มาตรฐานของ INSARAG (the International Search and Rescue Advisory Group of the UN)  

ภารกิจของ \"สุนัขกู้ภัย\" ในพื้นที่แผ่นดินไหว (คลิป)