เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
องค์กรการกุศล ออกซ์แฟม เผยแพร่รายงานที่มีชื่อว่า “การอยู่รอดของมหาเศรษฐี” เมื่อวันจันทร์ ในวันเดียวกับที่การประชุมเศรษฐกิจโลก เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม เปิดฉากขึ้นในเมืองดาวอสของสวิตเซอร์แลนด์
รายงานระบุว่า มหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของโลกเพียง 1% มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวมกันเกือบ 26 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประชากรอีก 99% มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวมกันเพียง 16 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ บรรดามหาเศรษฐีพันล้านมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 2.7 พันล้านดอลลาร์ ส่วนแรงงานอย่างน้อย 1.7 พันล้านคน อาศัยอยู่ในประเทศที่กำลังเผชิญอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงเกินกว่ารายได้
แม้ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มหาเศรษฐีพันล้านทั่วโลกมีทรัพย์สินลดลง แต่ก็ยังรวยมากขึ้นกว่าช่วงเริ่มต้นการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะปีที่แล้วทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวม 11.9 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลงเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์จากปลายปี 2564
ออกซ์แฟม ระบุด้วยว่า นอกจากนี้มหาเศรษฐีพันล้านครึ่งหนึ่งของโลก อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่เก็บภาษีมรดกสำหรับทายาทโดยตรง ทำให้พวกเขาสามารถโอนทรัพย์สิน 5 ล้านล้านดอลลาร์ให้กับทายาท โดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งเงินจำนวนนี้สูงกว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของทวีปแอฟริกาทั้งทวีป
ออกซ์แฟม คาดการณ์ด้วยว่า หากเก็บภาษี 5% จากมหาเศรษฐีร้อยล้านและมหาเศรษฐีพันล้านทั่วโลก ก็จะระดมเงินได้มากถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี มากเพียงพอที่จะทำให้ประชาชน 2 พันล้านคน หลุดพ้นความยากจน
กาเบรียลลา บุชเชอร์ กรรมการบริหารของออกซ์แฟม ระบุว่า “การเก็บภาษีมหาเศรษฐี และบริษัทขนาดใหญ่เป็นหนทางแก้ไขวิกฤตความเหลื่อมล้ำในปัจจุบัน และถึงเวลาลบมายาคติแบบเดิม ๆ ว่า การลดภาษีให้คนรวยจะส่งผลให้สามารถกระจายความร่ำรวยสู่ทุกคน และ 40 ปีที่ผ่านมาสำหรับการลดภาษีให้มหาเศรษฐี แสดงให้เห็นว่า น้ำหนุนไม่ได้ช่วยเรือทุกลำลอยได้ มีแต่เรือซูเปอร์ยอชต์เท่านั้น”
นอกจากนี้ออกซ์แฟมระบุว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ความร่ำรวยที่สุด และความยากจนที่สุดเพิ่มขึ้นพร้อมกันในรอบ 25 ปี และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ออกซ์แฟมเสนอให้รัฐบาลชาติต่าง ๆ เก็บภาษีความร่ำรวยแบบจ่ายครั้งเดียว และเก็บภาษีลาภลอยเพื่อยุติการแสวงกำไรจากวิกฤตต่าง ๆ ของโลก และการปรับขึ้นภาษีอย่างถาวรต่อคนรวยที่สุดที่มีจำนวนเพียง 1% ด้วยอัตราภาษีอย่างน้อย 60% จากรายได้
สำหรับการประชุมเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอสนาน 5 วันจนถึงวันศุกร์ จะมีผู้นำประเทศ 52 คน และซีอีโอเกือบ 600 คนจากบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกเข้าร่วมหารือเกี่ยวกับประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจที่น่ากังวลสำหรับทั่วโลก