svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ผู้ประท้วงบุกคองเกรสบราซิล ซ้ำรอยบุกคองเกรสสหรัฐฯ

09 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การประท้วงของผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีบราซิล ที่ถึงขั้นบุกอาคารรัฐสภา ศาลฎีกา และทำเนียบประธานาธิบดี หลังไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ได้สะท้อนเหตุการณ์เมื่อครั้งผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ บุกอาคารรัฐสภาเพราะไม่ยอมรับผลเลือกตั้งเช่นกัน

การที่ชาวบราซิลราว 3,000 คน ที่สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู ได้บุกทำเนียบประธานาธิบดี อาคารรัฐสภา และอาคารศาลฎีกา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 2566 หลังจากไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่นายลูอีซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา หรือลูลา ได้กลับมาดำรงตำแหน่งเป็นครั้งที่ 3 และสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 ซึ่งเหตุการณ์นี้ถูกเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ปี 2564 เมื่อผู้ประท้วงสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พากันเข้าเข้าไปในอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เพราะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ 

ผู้ประท้วงบุกคองเกรสบราซิล ซ้ำรอยบุกคองเกรสสหรัฐฯ

ผู้ประท้วงที่ถูกเรียกว่า "โบลโซนาริสทัส" (Bolsonaristas) ซึ่งเป็นฉายาของผู้สนับสนุนนายโบลโซนารู กล่าวหาประธานาธิบดีลูลาว่า "ปล้นชัยชนะ" พวกเขาสวมเสื้อสีเหลืองเขียวเป็นสัญลักษณ์และถือธงชาติ หลายคนเข้าไปทุบกระจก ทำลายเฟอร์นิเจอร์ และสร้างความเสียหายอื่น ๆ ที่เหลือถ่ายวิดีโอและเซลฟี ด้านนายเปาโล ปิเมนตา รัฐมนตรีสื่อสาร ระบุว่ามีงานศิลปะหลายชิ้นได้รับความเสียหาย

ผู้ประท้วงบุกคองเกรสบราซิล ซ้ำรอยบุกคองเกรสสหรัฐฯ

ผู้ประท้วงได้ลงมืออย่างย่ามใจ ก่อนที่กองกำลังรักษาความมั่นคงจะเข้าระงับเหตุและควบคุมสถานการณ์ด้วยแก๊สน้ำตา เพื่อเคลียร์ผู้ก่อความไม่สงบออกจากอาคารรัฐบาลและจตุรัสใหญ่ในกรุงบราซิเลีย และมีผู้ถูกจับกุมราว 170 คน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุด ของประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกานับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2507 และบ่งชี้ถึงการแพร่ระบาดของพวกขวาจัดที่ก่อกวนระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก โดยใช้วาทะทางการเมืองปลุกเร้าให้เกิดความไม่สงบ "ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง และยึดติดกับข้ออ้างเรื่องการโกงที่ไม่มีมูลและบ่อนทำลายหลักนิติธรรม"

ลูอีซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา หรือ ลูลา

ประธานาธิบดีลูลาแถลงผ่านโทรทัศน์จากเมืองเซา เปาโล ว่า "ไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อนในประวัติศาสตร์ของประเทศเรา" และเรียกความรุนแรงนี้ว่า "การกระทำของพวกป่าเถื่อนและพวกฟาสซิสต์" และบอกด้วยว่า "เราจะตามหาตัวคนที่สนับสนุนทางการเงินอยู่เบื้องหลัง" ซึ่งแม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อแต่ก็เชื่อว่าผู้นำบราซิลหมายถึงนายโบลโซนารู ที่จุดชนวนด้วยการอ้างเรื่องที่ไม่มูล โดยบอกว่ามีการโกงเลือกตั้งจนทำให้เขาพ่ายแพ้ประธานาธิบดีลูลาอย่างเฉียดฉิว ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2565 

อดีตประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู

ส.ส.วาคีน คาสโตร ของพรรคเดโมแครต จากรัฐเท็กซัส ได้โพสต์ในบัญชีทวิตเตอร์ว่าขอยืนหยัดอยู่ข้างลูลากับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของผู้ก่อการร้ายในประเทศ และพวกฟาสซิสต์ไม่สามารถใช้ "คู่มือ" ของทรัมป์มาบ่อนทำลายประชาธิปไตย โบลโซนารูต้องไม่ได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยในฟลอริดาเพื่อซ่อนตัวจากอาชญากรรมที่เขาก่อ และเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ส่งตัวโบลโซนารู ผู้ภาคภูมิใจกับฉายา "ทรัมป์แห่งเขตร้อน" (Trump of the Tropics) กลับไปให้บราซิล 

ผู้ประท้วงบุกคองเกรสบราซิล ซ้ำรอยบุกคองเกรสสหรัฐฯ

การใช้ฟลอริดาเป็นฐาน ก็ถูกเปรียบเทียบกับทรัมป์ที่ใช้คฤหาสน์ มาร์-อา-ลาโก ในรัฐฟลอริดา เป็นฐานในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่น และทรัมป์เรียกสถานที่แห่งนี้ว่า "ทำเนียบขาวฤดูหนาวกับทำเนียบขาวทางใต้" (Winter White House and Southern White House) ในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 

ผู้ประท้วงบุกคองเกรสบราซิล ซ้ำรอยบุกคองเกรสสหรัฐฯ

ส่วนประเทศเพื่อนบ้านในอเมริกาใต้ ได้แก่ ชิลี โคลอมเบีย และเม็กซิโก ต่างเสนอตัวเคียงข้างและสนับสนุนประธานาธิบดีลูลาอย่างเต็มที่

ผู้ประท้วงบุกคองเกรสบราซิล ซ้ำรอยบุกคองเกรสสหรัฐฯ

ผู้ประท้วงบุกคองเกรสบราซิล ซ้ำรอยบุกคองเกรสสหรัฐฯ

logoline