svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ชาวจีนร่วมไว้อาลัยครั้งสุดท้ายแก่ “เจียง เจ๋อหมิน”

รัฐบาลจีนจัดพิธีไว้อาลัยแก่ เจียง เจ๋อหมิน อดีตประธานาธิบดี โดยยกย่องเป็นผู้นำที่มีบทบาทปฏิรูปพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชนทั่วประเทศร่วมสงบนิ่งไว้อาลัยนาน 3 นาที

ชาวจีนร่วมไว้อาลัยครั้งสุดท้ายแก่ “เจียง เจ๋อหมิน”

 

พิธีไว้อาลัย เจียง เจ๋อหมิน อดีตผู้นำที่ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 30 พ.ย. จัดขึ้นภายในมหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่งในเช้าวันอังคาร โดยมีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวสดุดีว่า ในช่วงที่ประเทศเผชิญมรสุมทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ อดีตประธานาธิบดี เจียง ได้ใช้ความกล้าหาญในการตัดสินใจ และสามารถปกป้องระบบสังคมนิยมทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถรอดพ้นมรสุมทางการเมืองมาได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจ

 

 

ชาวจีนร่วมไว้อาลัยครั้งสุดท้ายแก่ “เจียง เจ๋อหมิน”

 

นอกจากนี้นายสี ยกย่องว่า “ทฤษฎีสามตัวแทน” ของนายเจียง เป็นคำตอบในการปฏิรูปพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งหนึ่งในตัวแทน คือ การอนุญาตให้ผู้ประกอบการเอกชนเป็นสมาชิกพรรค

 

และเขาบอกด้วยว่า จีนยังต้องแสวงหาปรัชญาการพัฒนาใหม่ สร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่ และส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง รวมทั้งต้องปฏิรูปและเปิดกว้างเพื่อปรับปรุงระบบสังคมนิยมในแบบฉบับของชาวจีน  

 

หลังจากนั้นประธานาธิบดีสี นำผู้ร่วมพิธีทั้งหมดโค้งคำนับ 3 ครั้งเพื่อไว้อาลัยแก่อดีตประธานาธิบดีเจียง ก่อนสิ้นสุดพิธี

 

ก่อนหน้าพิธีไว้อาลัยจะเริ่มขึ้น ประชาชนทั่วจีน รวมถึงในฮ่องกง ร่วมสงบนิ่งไว้อาลัยนาน 3 นาทีตั้งแต่เวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยมีเสียงไซเรน เสียงบีบแตรรถ และเสียงหวูดของรถไฟและเรือดังขึ้นนาน 3 นาทีเพื่อร่วมไว้อาลัยด้วย 

 

ชาวจีนร่วมไว้อาลัยครั้งสุดท้ายแก่ “เจียง เจ๋อหมิน”

 

 

ส่วนพิธีฌาปนกิจศพของนายเจียงจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่สุสานปฏิวัติปาเป่าซานในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นสถานที่ฌาปนกิจศพอดีตผู้นำผู้ล่วงลับหลายคน โดยมีประธานาธิบดีสี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนเข้าร่วมพิธีด้วย

 

เจียง เจ๋อหมิน ถึงแก่อสัญกรรมที่นครเซี่ยงไฮ้เนื่องจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ ขณะมีอายุ 96 ปี เขาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ระหว่างปี 2532-2545 และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนาน 10 ปีจนถึงปี 2546 เขาได้รับการจดจำว่า เป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของจีน มีส่วนสำคัญในการยกระดับสถานะของจีนสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจชาติหนึ่ง และทำให้จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปี 2544 รวมถึงได้รับการส่งคืนเกาะฮ่องกงจากอังกฤษในปี 2540

 

ชาวจีนร่วมไว้อาลัยครั้งสุดท้ายแก่ “เจียง เจ๋อหมิน”