เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
สำนักงานอวกาศจีน เปิดเผยว่า ภารกิจของยานอวกาศเสินโจว-14 เสร็จสิ้นลงด้วยความสำเร็จ หลังจากแคปซูลของยานอวกาศ ที่บรรทุกนักบินอวกาศ 3 คน ลงจอดในฐานลงจอดตงเฟิง ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางตอนเหนือของจีนได้อย่างปลอดภัยเมื่อเวลา 20.09 น. ของวันที่ 4 ธ.ค. ตามเวลาปักกิ่ง และนักบินอวกาศทั้ง 3 คน ประกอบด้วย เฉิน ตง ผู้บัญชาการภารกิจ เสินโจว-14 , หลิว หยาง นักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีน และไค ซู่เจ๋อ อยู่ในสภาพแข็งแรงดี
เฉิน ตง ซึ่งเป็นนักบินกองทัพอากาศที่กลายเป็นนักบินอวกาศคนแรกของจีนที่ประจำการอยู่ในอวกาศนานกว่า 200 วัน กล่าวหลังกลับสู่พื้นโลกว่า เขารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสเห็นการต่อเติมสถานีอวกาศเบื้องต้นเสร็จสิ้น
หลิว หยาง เป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีนและเคยร่วมภารกิจของยานอวกาศเสินโจว-9 นาน 13 วัน ส่วนไค ซู่เจ๋อ เดินทางสู่อวกาศเป็นครั้งแรก และหวังว่าจะได้กลับไปที่สถานีอวกาศอีกครั้งในอนาคต โดยทั้งสามคนเดินทางกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย และมีสุขภาพแข็งแรงดี
ภารกิจของทั้งสามคนเสร็จสิ้น หลังจากโมดุลที่ 3 ซึ่งเป็นโมดุลสุดท้ายเชื่อมต่อกับโครงสร้างหลักของสถานีอวอาศเทียนกงสำเร็จเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้การก่อสร้างสถานีอวกาศถาวรแห่งแรกของจีนเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ และนักบินอวกาศทั้งสามคนยังได้ต้อนรับนักบินอวกาศชุดใหม่ 3 คนของภารกิจเสินโจว-15 ทำให้เป็นการผลัดเปลี่ยนนักบินอวกาศครั้งแรกของจีนอีกด้วย
สำหรับยานอวกาศ เสินโจว-14 ถูกปล่อยขึ้นจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วฉวน เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. และตลอดระยะเวลาปฏิบัติภารกิจในอวกาศนาน 6 เดือน นักบินอวกาศทั้ง 3 คน ได้สร้างสถิติครั้งแรกในหลายเรื่อง ได้แก่ การเทียบท่ากับโมดุลขนาด 20 ตัน รวม 2 โมดุล การเข้าไปในโมดุลห้องปฏิบัติการเวิ่นเทียน และเมิ่งเทียน และการจอดเทียบท่าอัตโนมัติอย่างรวดเร็วเพียง 2 ชม. ของยานขนส่งอวกาศ นอกจากนี้นักบินอวกาศทั้ง 3 คน ยังร่วมมือกับศูนย์ภาคพื้นดินในการสร้างโครงสร้างหลักของสถานีอวกาศรูปตัว T ได้สำเร็จ ตลอดจนทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคต่าง ๆ
จีนไม่เคยได้ส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ หลังจากในปี 2011 สหรัฐฯ ห้ามองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ทำงานร่วมกับจีน ทำให้จีนพยายามสร้างสถานีอวกาศของตัวเอง และเมื่อสถานีอวกาศเทียนกงเสร็จสิ้นจะมีน้ำหนักรวม 90 ตัน หรือ เกือบ 1 ใน 4 ของสถานีอวกาศนานาชาติ ( ISS ) หรือใกล้เคียงกับสถานีอวกาศมีร์ ในยุคโซเวียต