svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม nation online

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

นักสิทธิมนุษยชนเบลารุส ยูเครน รัสเซีย คว้าโนเบลสันติภาพ

07 ตุลาคม 2565
208

นักเคลื่อนไหวและองค์กรด้านสิทธิมนุษชนจากเบลารุส รัสเซีย และยูเครน คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2565 ในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับสงครามในยูเครน

คณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ ประกาศวันนี้ว่า มอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2565 แก่ อาเลส เบียเลียตสกี นักสิทธิมนุษยชนจากเบลารุส, เมมโมเรียล องค์กรสิทธิมนุษยชนของรัสเซีย และศูนย์เพื่อเสรีภาพพลเมือง องค์กรสิทธิมนุษยชนยูเครน

   

คณะกรรมการ ระบุว่า บุคคลและองค์กรทั้ง 3 รายแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาคประชาสังคมต่อสันติภาพและประชาธิปไตย และความสำคัญของสิทธิในการวิจารณ์ผู้มีอำนาจ และปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง นอกจากนี้พวกเขายังคงได้รับการยกย่องจากความพยายามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมสงคราม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้อำนาจในทางมิชอบ

 

เบริต ไรซ์-แอนเดอร์สัน ประธานคณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ ถูกผู้สื่อข่าวซักถามว่า การมอบรางวัลในปีนี้มุ่งส่งสารถึงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียในวันคล้ายวันเกิดครบ 70 ปีหรือไม่ โดยตอบว่า รางวัลนี้ไม่ได้มุ่งต่อต้านใคร

 

สเวตลานา กานนูชกินา ผู้ก่อตั้งองค์กรสิทธิมนุษายชน "เมมโมเรียล" ของรัสเซีย

 

ปีนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพรวม 343 ราย ได้แก่ บุคคล 251 คนและองค์กร 92 แห่ง

   

การคัดเลือกผู้ชนะรางวัลในปีนี้มีความซับซ้อนและได้รับการจับตาอย่างใกล้ชิดมากที่สุดครั้งหนึ่งในช่วงหลายปีนี้ และผู้เชี่ยวชาญ เตือนว่า สภาพภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดในขณะนี้จากสงครามในยูเครนอาจมีผลต่อการประกาศรางวัลในปีนี้ได้  และรายชื่อตัวเต็งอันดับหนึ่งในบรรดาเว็บไซต์พนัน คือ ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน

 

 

 

ส่วนรายชื่อตัวเต็งคนอื่น ๆ มีทั้ง อเล็กเซ นาวัลนี ผู้นำฝ่ายค้านของรัสเซียที่มักวิจารณ์ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน, สเวียตลานา ซิคานูสกายา ผู้นำฝ่ายค้านเบลารุส ที่ต้องลี้ภัยไปลิทัวเนีย หลังจากแพ้ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2563 และรัฐบาลแห่งชาติเมียนมา หรือ NUG  ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่จัดตั้งขึ้นโดยฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร

 

นอกจากนี้ยังมีตัวเต็งอย่าง  ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ, องค์การอนามัยโลก, ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ, เกรตา ทุนเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านโลกร้อนชาวสวีเดน และไซมอน โคเฟ รัฐมนตรีต่างประเทศตูวาลู ที่ยืนกล่าวสุนทรพจน์กลางทะเลเพื่อสะท้อนปัญหาโลกร้อนต่อที่ประชุมโลกร้อนของสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้ว

 

ในปีที่แล้วผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ คือ มาเรีย เรสซา ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งเวบไซต์ข่าว แรปป์เลอร์ ของฟิลิปปินส์  และดมิทรี มูราตอฟ บรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์อิสระ โนวายา กาเซตตา ของรัสเซีย สำหรับความพยายามปกป้องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น