กลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียเมื่อการแสดงอันอ่อนช้อย ที่เรียกว่าระบำกวีนิพนธ์ชื่อ "การเดินทางจิตรกรรม-ตำนานแห่งขุนเขาและสายน้ำ" (The Painting Journey -The Legend of a Panorama of Mountains and Rivers) โดยเฉพาะในช่วงการเอนตัวทำมุม 90 องศา ของนักแสดงนำ "เมิ่ง ฉิงหยาง" โดยไม่มีอุปกรณ์ช่วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายการพิเศษฉลองเทศกาลตรุษจีน (Spring Festival gala) ทาง CCTV ได้จุดกระแสความคลั่งไคล้และชาเลนจ์ที่เรียกว่า "Blue green waist" หรือ "ฉิงลู่เหยา" ใน "ปีลีปีลี" (Bilibili) แพลตฟอร์มสตรีมมิงวิดีโอหรือ TikTok จีน ที่นอกจากจะไม่สำเร็จแล้ว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อยังเตือนด้วยว่า อย่าพยายามทำเองถ้าไม่มีความชำนาญ
การแสดงนี้เริ่มเปิดตัวครั้งแรกที่ศูนย์เพื่อการแสดงศิลปะแห่งชาติของปักกิ่ง เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2564 โดยผู้ที่คิดและออกแบบท่าทาง คือ โจว ลี่หยา และ ฮั่น เจิน นักเต้นดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการละครจีน ส่วนการแสดงชุดนี้อ้างอิงจากภาพเขียน ที่เป็นงานศิลปชิ้นเอกและชิ้นเดียวที่เหลืออยู่ของ "หวัง ซีเมิ่ง" จิตกรสมัยราชวงศ์ซ่งกว่า 900 ปีก่อน ที่มีชื่อภาพว่า "เชี่ยนหลี เจียนซัน ถู" (พันลี้แห่งแม่น้ำและขุนเขา) ที่ใช้เพียงสีเขียวกับสีน้ำเงินในการวาดขณะมีวัยเพียง 18 ปี จนสำเร็จภายในเวลา 6 เดือน เมื่อปี พ.ศ.1656 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังกรุงปักกิ่ง ก่อนเสียชีวิตในอีก 5 ปีต่อมา ขณะวัย 23 ปี
นักแสดงสวมชุดโทนสีเขียวอ่อนกับน้ำเงิน มีเพียงนักแสดงดำที่สวมชุดสีน้ำเงิน มีเพียงปลายแขนเสื้อที่เป็นสีเขียวอ่อน ชาวเน็ตพากันชื่นชมว่าเป็นผลงานศิลปะที่ส่งเสริมวัฒนธรรม กับความพลิ้วไหวของการร่ายรำที่เป็นความงามด้านสุนทรียศาสตร์ ก่อนจะได้ท่าร่ายรำนี้มาก็ต้องศึกษาค้นคว้ากันนานถึง 20 เดือน และโชว์นี้ถูกจัดแสดงมาแล้ว 50 ครั้ง ใน 18 นครใหญ่