เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
แพทย์ชาวแอฟริกาใต้คนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ในประเทศ ที่สงสัยว่ามีเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ตัวใหม่ในกลุ่มผู้ป่วย บอกเมื่อวันอาทิตย์ (28 พ.ย.) ว่าอาการของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ " โอไมครอน " นั้นไม่รุนแรงมากและสามารถรักษาได้ที่บ้าน
แพทย์หญิง แองเจลิก โคทซี แพทย์ประจำตัว และประธานสมาคมการแพทย์แห่งแอฟริกาใต้บอกว่าเมื่อวันที่ 18 พ.ย. เธอสังเกตเห็นผู้ป่วย 7 รายที่มาที่คลินิกของเธอ โดยมีอาการแตกต่างจากผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลต้าที่กำลังระบาดหนักอยู่ในปัจจุบัน โดยอาการของคนเหล่านี้ถือว่า "ไม่รุนแรง"
เชื้อที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ใช้ชื่อ โอไมครอน ถูกตรวจพบและได้รับการประกาศโดยสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติแอฟริกาใต้ หรือ NICD เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน จากตัวอย่างที่นำมาจากห้องปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. ถึง 16 พ.ย.
โคทซีบอกว่าผู้ป่วยรายหนึ่ง เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ได้บอกกับคลินิกของเธอว่า "เหนื่อยมาก" เป็นเวลา 2 วัน ด้วยอาการปวดเมื่อยตามร่างกายและปวดหัว
ในวันเดียวกันนั้น ก็มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ที่มีอาการคล้ายคลึงกันมาที่คลีนิกของเธอ และเป็นตอนนั้นเองที่เธอรู้ว่ามี " อะไรบางอย่างเกิดขึ้น" และตั้งแต่นั้นมา เธอก็พบผู้ป่วยวันละ 2 - 3 คน
และเธอได้แจ้งเตือน NICD ในวันเดียวกับที่เธอสังเกตเห็นผลทางคลินิก
โคทซี ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีด้านวัคซีนด้วยบอกว่า จนถึงตอนนี้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ไม่ได้รายงานเรื่องการสูญเสียการรับรู้เรื่องกลิ่นหรือการรับรส และไม่มีระดับออกซิเจนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย
“เมื่อพิจารณาจากอาการอ่อน ๆ ที่เราพบเห็น ในปัจจุบันก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องตื่นตระหนก เพราะเราไม่เห็นผู้ป่วยที่ป่วยหนัก จนถึงตอนนี้ เราเพิ่งเห็นการติดเชื้อที่ลุกลาม ไม่ใช่การติดเชื้อรุนแรง” แต่ก็เสริมว่าสถานการณ์อาจเปลี่ยนไปได้ในอนาคต
เธอบอกว่า ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าไวรัสโคโรนาตัวนี้สามารถหลบวัคซีนได้ เนื่องจากเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มีอาการของการติดเชื้อโอไมครอนที่เธอรักษาอยู่ ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
“ดังนั้น เมื่อไหร่ที่มันจะหลบหนีออกจากระบบภูมิคุ้มกันของวัคซีนได้ ฉันคิดว่านั่นคือตอนที่คุณจะได้เห็นผู้ป่วยจริง ๆ แต่ไม่ใช่ตอนนี้ เรายังไม่ได้ไปถึงที่นั่น”
ข่าวเกี่ยวกับเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ ที่เกิดขึ้นจากแอฟริกาใต้ทำให้เกิดปฏิกิริยาอย่างกะทันหันจากหลายประเทศ รวมถึงอังกฤษ ซึ่งเมื่อวันศุกร์ (26 พฤศจิกายน) ซึ่งได้ห้ามเดินทางจากหลายประเทศในแอฟริกาตอนใต้โดยให้มีผลทันที ขณะที่แอฟริกาใต้ได้ออกมาโต้แย้งในเรื่องนี้
แต่ตั้งแต่วันศุกร์ หลายประเทศได้สั่งห้ามการเดินทางทางอากาศไปและกลับจากแอฟริกาใต้ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรปอื่น ๆ และบางประเทศในเอเชีย