3 สิงหาคม 2567 วงการเพลงไทยได้รับข่าวเศร้า เมื่อ "เพลิน พรหมแดน" หรือ นายสมส่วน พรหมสว่าง ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของฉายา "ราชาเพลงพูด" ได้เสียชีวิตอย่างสงบ สิริอายุ 85 ปี
ทั้งนี้ เพจเฟซบุ๊ก "เพลิน พรหมแดน" ได้โพสต์ข้อความสั้นๆว่า
ขอแจ้งข่าวร้าย อ.เพลิน ได้จากเราไปแล้วเมื่อเวลาประมาณเที่ยง
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก สมาคมนักร้องลูกทุ่งแห่งประเทศไทย ก็ได้โพสต์ข้อความร่วมอาลัย โดยระบุว่า
“ขอแสดงความอาลัยและเสียใจต่อการจากไปของครู เพลิน พรหมแดน (ศิลปินแห่งชาติ) ซึ่งท่านได้เสียชีวิตแล้วในวันนี้ โดยจากไปอย่างสงบด้วยวัย 85 ปี”
เปิดสาเหตุการเสียชีวิต
ทั้งนี้จากการตรวจสอบจากญาติทราบว่า เพลิน พรหมแดน จากไปเมื่อช่วงเที่ยงวันนี้ (3 ส.ค.) โดยในช่วงเช้า เพลิน พรหมแดน ตื่นนอนมาตามปรกติ ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี ยังทำภาระกิจต่างๆได้เหมือนเคย แต่จู่ๆได้เกิดวูบล้มลง ญาติได้นำตัวส่งโรงพยาบาลศิริราช ก่อนเสียชีวิตอย่างสงบในเวลาต่อมา ซึ่งแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นว่า เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือ หัวใจวาย
เปิดประวัติ เพลิน พรหมแดน
นายสมส่วน พรหมสว่าง หรือเพลิน พรหมแดน เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งชาวไทย มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงเป็นที่รู้จักในเพลงชมทุ่ง, บุญพี่ที่น้องรัก, คนเดินดิน, คนไม่มีดาว, อย่าลืมเมืองไทย, ข่าวสดๆ และให้พี่รวยเสียก่อน เพลงที่คนคุ้นหูมากคือ "อาตี๋สักมังกร" ซึ่งส่วนมากเป็นเพลงพูด จึงได้รับสมญานาม ราชาเพลงพูด
สำหรับ นายสมส่วน พรหมสว่าง หรือเพลิน พรหมแดน ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง) ประจำปี พ.ศ. 2555 เกิดเมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2482 เป็นบุตรของนายปลื้มและนางตุ่น พรมสว่าง มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 8 คน เป็นบุตรคนที่ 5 เริ่มศึกษาในระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนศรีอรัญโญทัย
หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษาแล้ว ได้ช่วยพ่อแม่ทำนาอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นบรรพชาเป็นสามเณร และจำพรรษาอยู่ ณ วัดเศวตฉัตร กรุงเทพมหานคร เมื่อสอบได้นักธรรมโท จึงลาสิกขาออกมาช่วยบิดามารดาทำนาที่บ้านเกิด
เพลิน พรหมแดน เริ่มมีผลงานสร้างสรรค์โดยร้องเพลงเชียร์รำวง ต่อมาไปประกวดร้องเพลงกับคุณครูจำรัส วิภาตะวัต ในรายการแมวมองค้นหาดาวรุ่ง และได้เป็นนักร้องประจำวงดนตรีคณะชุมนุมศิลปิน ต่อมาตั้งวงดนตรี เพลิน พรหมแดน
เพลิน พรหมแดน มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกคือ เพลงทุ่งร้างนางลืม และได้บันทึกแผ่นเสียงอีกหลายเพลง เป็นที่ถูกใจของนักฟังเพลงอย่างกว้างขวาง ต่อมามีผลงานประพันธ์และขับร้องเอง เช่น เพลงวาสนายาจก อย่าลืมเมืองไทย ชมกรุง มนต์รักบ้านไร่ คำมั่นสัญญา เพชฌฆาตรัก เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2513 ฉลอง ภักดีวิจิตร ได้ชักชวนให้แสดงภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกคือ ฝนใต้ ตามต่อเรื่อง ฝนเหนือ และ ระเริงชล และในปี พ.ศ. 2522 ได้แสดงเป็นพระเอกเรื่อง แค้นไอ้เพลิน คู่กับนางเอก วิยะดา อุมารินทร์
สำหรับวงดนตรีเพลิน พรหมแดน ได้ยุบวงดนตรีไปนานแล้ว แต่ยังร้องเพลงตามงานต่าง ๆ ที่มาติดต่อให้ไปแสดง ผลงานที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาจังหวัดสระแก้ว ได้แก่ การบูรณะวัดกิโลสาม (วัดศรีอุทัย) ให้เป็นวัดธรรมยุติประจำอำเภออรัญประเทศ และได้ยกที่ดินบางส่วนให้กับเทศบาลอรัญประเทศเพื่อขยายโรงเรียนเทศบาลกิโลสอง
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก "เพลิน พรหมแดน" ได้ลงภาพงานแสดงของ เพลิน พรหมแดน ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดโพสต์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นการไปร่วมงานการกุศลกับ หลวงพ่ออลงกต วัดพระบาทน้ำพุ จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 มีภาพดังนี้
ขอบคุณข้อมูล