7 ธันวาคม 2566ที่ผ่านมาทาง กระทรวงวัฒนธรรมจัดงานฉลองสงกรานต์มรดกโลก หลังองค์การ UNESCO ประกาศให้ “สงกรานต์ในไทย“ กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ภายในงานมีพิธีสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ สรงน้ำพระสงฆ์ 9 รูป และขบวนแห่ฉลองสงกรานต์ ประกอบด้วย ขบวนมหาสงกรานต์จตุรทิศแผ่นดินไทย ขบวนอันเชิญพระพุทธสิหิงค์ ขบวนตำนานนางสงกรานต์ ทั้ง 7 วัน นำโดย แอนโทเนีย โพซิ้ว รองอับดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 มาในชุด “นางมโหธรเทวี”(นางสงกรานต์ ประจำปี 2567) ตามด้วยขบวนเริงรื่นชื่นสงกรานต์ 4 ภาค ขบวนแตรวงกลองยาว และยังมีการแสดงดนตรีโดยวงสุนทราภรณ์
โดย “แอนโทเนีย โพซิ้ว” ในฐานะ รองอันดับ 1 Miss Universe 2023 และ Miss Universe Thailand 2023 ได้รับเกียรติแต่งตั้งเป็น “นางมโหธรเทวี” นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ประจำปี 2567 มากับชุดไทยสวยงามวิจิตร “แอนโทเนีย” ได้สวม “รัดเกล้า” ประกอบกรรเจียกจร (จรหู) สวมอาภรณ์พรรณ (เครื่องประดับ) ที่รังสรรค์ด้วยกรรมวิธีสลักดุนโลหะด้วยเงิน,ทองแดง โดยใช้ตระกูลลายสกุลช่างทองหลวง ประดับแก้วนิลรัตน์(อัญมณีสีดำ) ซึ่งเป็นอัญมณีประจำนางมโธรเทวี สวมมาลัยครุยดอกรัก ให้ความงามอ่อนช้อย อย่างเทพเทวี
ห่มสไบแพรญวนสีม่วงดอกสามหาว ทับด้วยผ้า “สะพัก”ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง” ด้วยการปักดิ้นข้อถมดิ้นโปร่งประดับปีกแมลงทับ และตรึงโลหะชุบทองลงยาลายประจำยามใบเทศ ซึ่งออกแบบโดย อ.ธนิต พุ่มไสว ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “ภูษาผ้าลายอย่าง”
เช่นเดียวกับผ้านุ่ง “ลายสร้อยสามหาว“ ที่นำดอกสามหาว(ดอกผักตบ) ดอกไม้ประจำนางมโธรเทวี มาผูกลายขึ้นใหม่ ร้อยเรียงเป็นลวดลายไทยอย่างสกุลช่างเมืองเพชร ที่มีความอ่อนช้อยวิจิตรดังลายมีชีวิต พริ้วไหวงดงาม เป็นการออกแบบลายและรังสรรค์ผ้าลายนี้ขึ้นใหม่ครั้งแรกในเมืองไทย
ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว ประดับอาภรณ์ แก้วนิลรัตน์ พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล ภักษาหารเนื้อทราย เสด็จไสยาสน์ลืมพระเนตรมาบนหลังมยุเรศ อันเป็นเทวราชพาหนะ จักร และ ตรีศูล อันเป็นอาวุธนั้น ทำจากเหล็กบ้านอรัญยิก ด้ามทำจากไม้ทองหลาง เขียนด้วยลายรดน้ำ ศิลปะไทยแขนงหนึ่ง ที่ทำขึ้นเฉพาะสำหรับนางมโหธรเทวี
ซึ่งกิจกรรมฉลองสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก (UNESCO) ที่จะเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนไทยและต่างชาติได้รับรู้อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับองค์ความรู้ “สงกรานต์” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดการสงวนรักษา อนุรักษ์ สืบสาน ปกป้อง คุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของประเทศ นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันให้กับชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย ก่อให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับในระบบสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละชนชาติ และประชาชนไทย และมีส่วนร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์ อันทรงคุณค่าของไทย ให้เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน และใช้เป็นพลัง Soft power ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ ต่อไป