svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"เอสเอ็มอีไทย" เริ่มมีหวัง ค่าดัชนีฯเดือนพ.ย. 2565 เพิ่มขึ้นที่ระดับ 53.8

21 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME" เดือน พ.ย. 2565 อยู่ที่ 53.8 สูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศขยายตัว ทั้งภาคเกษตร และ การท่องเที่ยว โดยยังต้องการให้รัฐ ดูแลค่าสาธารณูปโภคที่ยังอยู่ระดับสูง

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 53.8 เพิ่มขึ้น ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งมีปัจจัยบวก มาจากการขยายตัวต่อเนื่อง ของภาคการท่องเที่ยวและ ภาคการค้า ที่ชัดเจนจนเกือบเป็นปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ ของประเทศทางภาคเหนือ และภาคใต้ ขณะเดียวกันสถานการณ์ ทางด้านต้นทุนธุรกิจ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากราคาพลังงาน และ วัตถุดิบเป็นสำคัญ

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

เมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า ภาคการเกษตร มีค่าดัชนี SMESI เพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 53.4 จาก ราคาที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพืชไร่ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว และกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ ที่ราคาปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า รวมถึงต้นทุนโดยเฉพาะราคาปุ๋ยมีแนวโน้มลดลง รองลงมาคือ ภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 52.3 ผลจากการขยายตัวทั้งธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคใต้ ที่ได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวขยายตัว ส่วน ภาคการผลิต ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 53.3 จากกำลังซื้อและต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะการผลิตที่เกี่ยวกับการเดินทางและการท่องเที่ยว เช่น ผลิตอาหาร ผลิตเสื้อผ้า

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 54.6 จากการคาดการณ์การขยายตัวของนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นอีกเมื่อเทียบกับปัจจุบัน รวมถึงสัญญาณบวกจากแนวโน้มต้นทุนธุรกิจ ทำให้คลายกังวลต่อค่าครองชีพและกำลังซื้อของผู้บริโภคในอนาคต

ทั้งนี้จากการสอบถามธุรกิจ SME กับสถานการณ์การจ้างแรงงานต่างด้าวของธุรกิจ SME ซึ่งสำรวจผู้ประกอบการ SME จำนวน 2,684 ราย พบว่า แรงงานต่างด้าวในธุรกิจ SME กว่า 50% เป็นแรงงานเมียนมา รองลงมา คือ แรงงานลาว โดยหน้าที่งานส่วนใหญ่ที่ SME นิยมจ้างแรงงานดังกล่าว คือ การทำความสะอาด การขนของ,ยกของ และ งานทั่วไป โดย มีค่าจ้างเฉลี่ยประมาณ 300 บาทต่อวัน ซึ่งเฉลี่ยแล้วถูกกว่าแรงงานคนไทย
 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐ ช่วยเหลือมากที่สุด คือ ด้านต้นทุน และ ค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะ การลดอัตราค่าสาธารณูปโภค ส่วนด้านกำลังซื้อ และ รายได้ของผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ต้องการให้ภาครัฐ ส่งเสริมมาตรการท่องเที่ยวไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในแต่ละภูมิภาค เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายไปยังธุรกิจรายเล็ก

logoline