svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

บีทีเอส วอนรัฐบาล 'ทยอย' จ่ายหนี้ 4 หมื่นล้านบาท

24 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“บีทีเอส” แจงเผยแพร่คลิปทวงหนี้ 4 หมื่นล้านบาท ต้องการขอความเห็นใจภาครัฐ จี้จ่ายหนี้ส่วนที่ไม่ติดข้อกฎหมาย ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และตากสิน-บางหว้า เผยบริษัทเพิ่มทุน 1.5 หมื่นล้านบาท และเตรียมกู้เพื่อพยุงต้นทุนเพิ่ม

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส สุรพงษ์ เลาหะอัญญา ระบุ สาเหตุที่จัดทำคลิปวีดีโอเรื่องหนี้ 4 หมื่นล้านบาทในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพราะต้องการขอความเห็นใจจากภาครัฐ กรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ให้ชำระค่าใช้จ่ายจากการให้บริการรถไฟฟ้า

 

โดยขอให้เร่งชำระในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากที่ผ่านมาศาลปกครองได้ตัดสินแล้วว่าสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง และตากสิน - บางหว้า เป็นสัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งที่ผ่านมาทางเคทีก็มีการชำระค่าจ้างส่วนนี้มาโดยตลอด

บีทีเอส วอนรัฐบาล 'ทยอย' จ่ายหนี้ 4 หมื่นล้านบาท

ส่วนสัญญาส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิด - สะพานใหม่ - คูคต และแบริ่ง – สมุทรปราการ ปัจจุบันศาลปกครองกลางวินิจฉัยแล้วว่าให้กรุงเทพธนาคมและ กทม.ร่วมชำระค่าจ้างเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ดังนั้นจึงถือได้ว่าการจ้างเดินรถส่วนนี้มีสัญญา

ปัจจุบันกรุงเทพธนาคม และ กทม. มียอดหนี้ที่ต้องชำระให้กับทางบีทีเอส แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 สัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 จากอ่อนนุช - แบริ่ง และตากสิน - บางหว้า โดยเป็นสัญญาที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 ทำสัญญาที่ถูกต้องตามขั้นตอน เพราะทาง กทม.ได้หารือเกี่ยวกับสัญญานี้ในชั้นกฤษฎีกาแล้ว ผ่านสภา กทม.ตามระเบียบกำหนด และบีทีเอสได้รับการจ่ายค่าจ้างตามสัญญามาตลอดจนกระทั่งปี 2562 เป็นต้นมาที่ไม่ได้รับชำระ

 

ส่วนที่ 2 ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และแบริ่ง – สมุทรปราการ ซึ่งเป็นโครงการที่ กทม.รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวชนแห่งประเทศไทย ซึ่งกทม.มองว่าเป็นสัญญาที่มีปัญหา แต่บีทีเอสในฐานะคู่สัญญาก็ยืนยันว่าสัญญาจ้างงานส่วนนี้ บีทีเอสมีสัญญากับกรุงเทพธนาคม และกรุงเทพธนาคมก็มีหนังสือการมอบหมายจาก กทม.ให้มาดำเนินการเรียบร้อย โดยสัญญาจ้างเดินรถส่วนนี้ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนศาลปกครองพิจารณา เพราะกรุงเทพธนาคม และ กทม.ได้ยื่นอุทธรณ์

 

และส่วนที่ 3 ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล (E&M) ส่วนนี้มีวงเงินราว 2 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุดบีทีเอสได้ยื่นรายละเอียดของมูลหนี้ส่วนนี้แจ้งไปยัง กทม.ให้รับทราบแล้ว เนื่องจากงานติดตั้งระบบไฟฟ้า/เครื่องกล ปัจจุบันก็ติดตั้งแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายมานานแล้ว จึงอยากขอให้ กทม.พิจารณาจ่ายค่าจ้างงานส่วนนี้ แต่ปัจจุบันทาง กทม.ยังไม่มีการตอบรับกลับมา

“หากรวมมูลหนี้จากการเดินรถส่วนต่อขยายทั้งสองช่วงก็ราว 2 หมื่นล้านบาท และรวมกับค่าจ้างติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกลอีก 2 หมื่นล้านบาท ก็จะรวมทั้งหมดประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เราเป็นเอกชนเงินจำนวนนี้ก็เยอะมาก เราก็มองว่าอย่างน้อยผู้ถือหุ้นต้องรับทราบด้วย ว่าเราพยายามทำ และคุณคีรี ท่านประธานก็พยายามเพื่อประชาชน โดยจะไม่หยุดเดินรถแน่นอน ทำให้ล่าสุดเราต้องเพิ่มทุนบริษัท 1.5 หมื่นล้านบาท และกำลังจะกู้ผ่านบริษัทแม่ บีทีเอส กรุ๊ป เพิ่มเติมอีก เพื่อไม่ให้ภาระหนี้ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปกระทบบริการประชาชน”

 

บีทีเอสซีในฐานะเอกชนผู้รับจ้างเดินรถ อยากให้ภาครัฐช่วยจ่ายหนี้ ส่วนใดที่เคยจ่ายได้ก็ขอให้จ่าย อย่างส่วนต่อขยายที่ 1 ที่เคยจ่ายมาก็อยากให้จ่ายบ้าง โดยสัญญางานจ้างส่วนนี้ปัจจุบันมีมูลค่าหนี้รวมหลักพันล้านบาท จึงอยากให้ภาครัฐจ่ายและเพื่อให้บริษัทไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนเพียงฝ่ายเดียว และเพื่อไม่ให้ กทม.ต้องเสียดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน เป็นภาระต่อภาษีประชาชนเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

อะไรที่จ่ายได้ก็ขอให้รีบดำเนินการ เพราะไม่งั้นมันก็จะมีปัญหาดอกเบี้ยที่เดินทุกวัน อีกทั้งปัจจุบันศาลปกครองก็ได้ตัดสินแล้วด้วยว่าให้กรุงเทพธนาคมและ กทม.รับผิดชอบหนี้ทั้งต้นและดอกร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ทางบีทีเอสได้พยายามดิ้นรันแก้ไขปัญหาจากการเพิ่มทุนไปแล้ว และกำลังกู้เพิ่ม เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเดินรถ เพราะต้นทุนพนักงานและค่าบำรุงรักษาเกิดขึ้นทุกวัน จึงอยากให้ กทม.พิจารณาหนี้ในส่วนที่ไม่ติดปัญหาอะไร หากจ่ายได้ก็ขอให้ทยอยจ่ายมาก่อน

logoline