svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"ไทย – สหรัฐ" ขึ้นดอกเบี้ยกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร?

20 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้ง คือ จากร้อยละ 0.50 เป็น ร้อยละ 0.75 ต่อปี ในเดือนสิงหาคม และขึ้นเป็นร้อยละ 1 ในเดือนกันยายน

ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยหวังว่าจะช่วยดูแลอัตราเงินเฟ้อที่สูงให้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายและรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาวได้ โดยไม่กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมากนัก

 

นายกิตติพล ติรโศภิน นักวิจัยอาวุโส สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ระบุว่า การขึ้นดอกเบี้ยให้สูงขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน

 

1. การบริโภคชะลอตัว: อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินฝากเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนไม่ถอนเงินออกมาใช้

 

2. ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น: ประชาชนที่กู้เงินมาใช้จ่าย ซื้อบ้าน ก่อนหน้านี้อาจไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะกระทบประชาชนที่วางแผนกู้เงินซื้อบ้าน หรือ รีไฟแนนซ์ขณะนี้ เพราะธนาคารพาณิชย์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอาจส่งผลต่อภาระหนี้สินโดยอ้อม จากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง ต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น อาจทำให้บุคคลไม่สามารถชำระหนี้ ท้ายที่สุดต้องกู้เงินเพิ่ม ซึ่งการก่อหนี้ใหม่นี้จะมีต้นทุนสูงขึ้น ทำให้มีภาระหนี้ที่มากขึ้น

 

3. การลงทุนชะลอตัว: ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการจะกู้ยืมเงินมาลงทุนมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้การลงทุนชะลอตัว

 

กิตติพล ติรโศภิน นักวิจัยอาวุโส สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา

ผลกระทบที่อธิบายข้างต้นพิจารณาบนพื้นฐานเศรษฐกิจในระบบปิด ที่ไม่เชื่อมโยงกับใคร อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน

 

อัตราดอกเบี้ยเป็นเหมือนผลตอบแทนจากการลงทุน ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศจึงทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของเงินทุนจากประเทศที่อัตราดอกเบี้ยต่ำไปยังประเทศที่อัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบไทย และ สหรัฐฯ จะพบว่า ในเดือนกันยายน อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทย อยู่ที่ร้อยละ 1 ขณะที่สหรัฐฯ อยู่ที่ ร้อยละ 3.0 - 3.5 ซึ่งค่อนข้างห่างกัน การที่อัตราดอกเบี้ยของไทยต่ำกว่าสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างน้อย 3 ประการ

 

1. ตลาดการเงินซบเซา: เงินทุนไหลออกจากไทยที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่า ไปลงทุนในสหรัฐฯ ที่ผลตอบแทนสูงกว่า ทำให้การลงทุนในประเทศชะลอตัวลง

2. ค่าเงินบาทอ่อนตัว: เมื่อเงินทุนไหลออกจากประเทศ เงินดอลลาร์ในระบบจะลดลง ต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการซื้อเงินดอลลาร์ ทำให้ค่าเงินสหรัฐฯ แข็งค่า ค่าเงินบาทอ่อนลง

3. การเปลี่ยนแปลงปริมาณการค้า: เมื่อค่าเงินบาทอ่อนลง การนำเข้าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณนำเข้าลดลง ขณะที่ปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากได้รับผลบวกจากอัตราแลกเปลี่ยน

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังอาจปรับขึ้นได้อีกในอนาคต เนื่องจาก อัตราเงินเฟ้อยังสูง อัตราดอกเบี้ยของไทยยังต่ำและช่องว่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯ และประเทศอื่นในโลกยังสูง ดังนั้นผลกระทบเหล่านี้ยังคงมีอยู่ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ภาครัฐควรมีนโยบายเพื่อดูแลประชาชน เช่น

 

1. ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาระหนี้ที่สูงขึ้น เช่น การส่งเสริมความรู้และสร้างวินัยทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนวางแผนรายรับรายรายจ่ายได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยป้องกันการใช้จ่ายและการก่อหนี้เกินตัว หรือการมีคลินิกแก้หนี้เพื่อให้คำปรึกษาและปรับโครงสร้างหนี้ได้เบ็ดเสร็จ รวมทั้งการช่วยเหลือในการชำระหนี้ โดยการสร้างเงื่อนไขให้ผู้ได้รับความช่วยเหลือต้องทำงานแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือ (Workfare) เป็นต้น

 

2. ใช้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัว เช่น เร่งส่งเสริมการส่งออกของผู้ประกอบการไทย หรือ การช่วยโปรโมตการท่องเที่ยว เพราะ เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมีกำลังซื้อและกำลังจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เป็นต้น

logoline