svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ททท.ตั้งเป้าโกยรายได้ท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้าน

ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยุทธศักดิ์ สุภสร ระบุ ปี 2565 ททท.ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างรายได้สู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด 19

ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ยุทธศักดิ์ สุภสร ระบุ ปี 2565 ททท.ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างรายได้สู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยได้ประมาณ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ประมาณ 656,000 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 สถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศระหว่างมกราคม-มิถุนายน 2565 เดินทางของนักท่องเที่ยวชาวไทย จำนวน 74,335,927 คน-ครั้ง

ททท.ตั้งเป้าโกยรายได้ท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้าน

ททท.ตั้งเป้าโกยรายได้ท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้าน

ตั้งแต่เดือนมกราคม - 15 กันยายน 2565  มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยแล้วมากกว่า 5 ล้านคน โดยตั้งแต่ 1 กันยายน เป็นต้นมา จำนวนเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 หมื่นคนต่อวัน จึงคาดการณ์นักท่องเที่ยว ณ สิ้นเดือน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเร่งตัวสูงกว่า 6 ล้านคน

ททท.ตั้งเป้าโกยรายได้ท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้าน

ทั้งนี้ หลังจากทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้สายการบินชั้นนำทยอยรีซูม (Resume) เส้นทางบินที่เคยทำการบิน ควบคู่กับการเพิ่มความถี่เส้นทางบินที่ได้รับความนิยมสูง ททท.คาดว่าช่วงไตรมาสสุดท้าย (ต.ค.-ธ.ค.) จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ 1.5 ล้านคนต่อเดือนเดือน ทำให้ทั้งปี 2565 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศแตะระดับ 10 ล้านคนตามเป้าหมาย โดยมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปเฉลี่ยที่ 5.5 หมื่นบาท

 

อย่างไรก็ตามต้องกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวในประเทศเทศให้มากขึ้น โดยในช่วงที่เหลือของปี ปกติจะมีการเดินทางประมาณ 12-14 ล้านคน-ครั้งต่อเดือน ซึ่งหากบริหารจัดการให้เดินทางระดับเท่าเดิม จะทำได้ตามเป้าหมายทั้งปี 2565 ที่วางไว้ 160 ล้านคน-ครั้งได้

 

สำหรับการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวในประเทศ ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2565 มีการเดินทางท่องเที่ยวสะสมแล้วประมาณ 130 ล้านคน-ครั้ง ดังนั้น ททท.จึงจัดสรรงบประมาณ 150 ล้านบาท ร่วมกับสมาคมสายการบินประเทศไทยจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศให้ได้ตามเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2565 ที่ตั้งไว้ 160 ล้านคน-ครั้ง โดยมอบส่วนลดค่าบัตรโดยสาร 300 บาทต่อหนึ่งสิทธ์การจองตั๋วเครื่องบิน (1 booking) จำนวน 500,000 สิทธิ์ ผู้โดยสารสามารถกรอกโค้ดลดราคา หรือ Promotion Code ได้แก่ "AMZTH300" บนเว็บไซต์ทั้ง 6 สายการบินที่เข้าร่วม ได้แก่ แอร์เอเชีย, ไทยไลอ้อนแอร์, นกแอร์, ไทยสมายล์, บางกอกแอร์เวย์ส, และไทยเวียตเจ็ท สำหรับการจองตั๋วระหว่างวันที่ 19 กันยายน - 10 ตุลาคม 2565 และบัตรโดยสารสามารถใช้เดินทางได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน - 31 ธันวาคม 2565

 

ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดกระแสการเดินทางของนักท่องเที่ยวแล้ว ยังจะทำให้ Load Factor ของสายการบินเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดการใช้จ่ายในระหว่างการเดินทาง อาทิ ค่าที่พัก ค่าเดินทางท้องถิ่น ค่าอาหาร ค่าเข้าชมแหล่งท่องเที่ยว ค่าซื้อสินค้าและของ ที่ระลึก ตลอดทั้งค่าใช้จ่ายสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวอื่น ๆ ซึ่งเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวอีกด้วย คาดว่าเม็ดเงินสะพัดจากโครงการนี้ประมาณ 2,000 ล้านบาท

ด้านกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินกรุงเทพ หรือ BA ในฐานะนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ระบุ ผู้ประกอบการสายการบินทั่วโลกเริ่มมีความเชื่อมั่น ทยอยเปิดเส้นทางบินมากขึ้นทั้งเส้นทางภายในประเทศ ระหว่างประเทศ และระหว่างทวีปมากขึ้น สมาคมฯ จึงร่วมมือกับ ททท.ด้วยการทยอยกลับมาเปิดเส้นทางบินในประเทศให้ครอบคลุมทั้ง เมืองหลัก และ เมืองรอง ได้ประมาณ 70-80% แล้วและจะทยอยเปิดเส้นทางบินให้ครอบคลุม 100% ภายในสิ้นปี 2565

 

โดยเฉพาะการเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างภูมิภาค ควบคู่กับการเปิดเส้นทางบินตรงเข้าสู่เมืองรอง จัดโปรโมชั่น จำหน่ายตั๋วโดยสารราคาพิเศษ เพิ่มน้ำหนักกระเป๋า บริการพิเศษบนเครื่องบินตามเทศกาล ร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่นจัดแพ็กเกจพิเศษ เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายฟื้นเที่ยวบิน ความถี่ และจำนวนที่นั่งกลับมา 50-60% เทียบกับปี 2562 ซึ่งทำการบินเส้นทางในประเทศ 67 เส้นทางและมีนักท่องเที่ยวในประเทศสูงถึง 89 ล้านคน

 

สำหรับ บมจ. การบินกรุงเทพ หรือ BA มั่นใจว่าทั้งปี 2565 นี้จะมีปริมาณผู้โดยสาร 2.1 – 2.2 ล้านคน อัตราขนส่งผู้โดยสาร 73% จากปีก่อนกว่า 50% โดยปัจจุบันบริษัทใช้เครื่องบินเพียง 20  ลำจากทั้งฝูงบินประมาณ 37 ลำ ทั้งนี้ บริษัทยังมีแผนปลดออกอีก 7 ลำ แบ่งเป็นขายออก 2 ลำและไม่เช่าต่อ 5 ลำ จะทำให้สิ้นปี 2565 จะมีจำนวนเครื่องบิน 30 ลำ

 

นอกจากนี้ ยังคงทยอยเปิดเส้นทางบินในประเทศ – ระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการเจรจาร่วมกับสายการบินพันธมิตรที่มีความร่วมมือในระดับ Codeshare และ Interline ประมาณ 26-27 รายทั้งในยุโรปและเอเชีย เพื่อเตรียมกลับมาส่งต่อผู้โดยสารระหว่างกัน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มเส้นทางบินระหว่างประเทศทางอ้อม