svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

5 ค่ายบะหมี่ซองจี้รัฐขยับราคาเพิ่ม 2 บาท

16 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในช่วงเช้าวันนี้ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 ราย เจ้าของแบรนด์ดัง เช่น มาม่า ไวไว ยำยำ ซื่อสัตย์ และนิชชิน ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกต่ กรมการค้าภายใน เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติปรับขึ้นราคาบะหมี่สำเร็จรูปเป็นซองละ 8 บาทจากปัจจุบัน 6 บาท

ผู้จัดการสำนักอำนวยการ บมจ. ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ผู้ผลิต "มาม่า" พันธ์ พะเนียงเวทย์ ระบุ  เป็นครั้งแรกที่ผู้ผลิตบะหมี่ฯ 5 รายมารวมตัวบนเวทีเดียวกัน เพื่อเร่งรัดให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาปรับขึ้นราคาบะหมี่ฯ  เนื่องจากเผชิญต้นทุนวัตถุดิบการผลิตทั้งแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม สูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

ในอดีตต้นทุนวัตถุดิบการผลิตบะหมี่ฯ เคยพุ่งขึ้น 2 ครั้ง ในปี 2554 ซึ่งเป็นวิกฤติน้ำปาล์มแพงสูงแตะ 70-80 บาทต่อกิโลกรัม แต่ผู้ผลิตยังไม่ขอปรับขึ้นราคา และอีกครั้งคือปี 2557 เกิดวิกฤติแป้งสาลีระยะสั้น และปี 2558 รัฐขอให้ ผู้ผลิตตรึงราคาสินค้า และดำเนินตามที่รัฐขอ

 

ส่วนปี 2565 ต้นทุนพุ่งสูงมากจนไม่สามารถแบกรับไหว จึงต้องขอขึ้นราคา ซึ่งเดิมรัฐให้ช่วงเวลาในการไฟเขียวปรับราคาเดือนก.ค.ที่ผ่านมา จนล่วงเลยถึงเดือน ส.ค. ยังไม่ได้ปรับราคา จึงต้องทำหน้าที่ทวงถามความคืบหน้าและเร่งรัด

 

สำหรับการขอปรับขึ้นราคาบะหมี่ฯ หลัก 6 บาท ราคาใหม่ขอที่ 8 บาทต่อซอง เนื่องจากสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริง หากรัฐให้ขึ้นเพียง 7 บาทต่อซอง จะเดินหน้าขอขยับราคาเป็น 8 บาทต่อไป

5 ค่ายบะหมี่ซองจี้รัฐขยับราคาเพิ่ม 2  บาท

หากไม่ได้ขึ้นราคา สิ่งที่ผู้ผลิตบะหมี่ฯ จะบริหารจัดการคือเน้นจำหน่ายสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศเพราะสามารถปรับราคาได้ตามต้นทุนที่แท้จริง ปัจจุบันมาม่า ส่งออกราว 30% และสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดต่างประเทศโดยไม่ลดกำลังการผลิตในประเทศแต่อย่างใด

 

ด้านกรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิต "ไวไว" วีระ นภาพฤกษ์ชาติ ระบุ สถานการณ์ต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพุ่งขึ้นสูงมากราว 20-30% ปาล์มน้ำมันราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ผลประกอบการสินค้าบางรายการของบริษัทอยู่ในโซนแดงหรือ “ขาดทุน”

 

ทั้งนี้ กว่า 14 ปี ที่บะหมี่ฯ ไม่ได้ปรับขึ้นราคา เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้บริโภค ทำให้มีการตรึงราคามาโดยตลอด ทั้งที่ต้นทุนต่างๆ เงินเฟ้อ ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยการบริหารจัดการต้นทุนเพื่ออยู่รอด บริษัทมีการลดการจัดโปรโมชั่นต่างๆ ตัดส่วนลดให้ร้านค้า แต่ 1 ปีที่ผ่านมา ยังเจอน้ำมันแพง กระทบการขนส่ง ซึ่งบริษัททำหน้าที่กระจายสินค้าเอง และการไม่ได้ผลิตแค่บะหมี่ฯ มีสินค้าอื่นด้วย ทำให้กำไรที่น้อยอยู่แล้ว การเจอผลกระทบต้นทุนรอบด้าน จึงยื่นเรื่องถึงกรมการค้าภายในเพื่อขอปรับราคาเพื่อความอยู่รอด

อย่างไรก็ตาม หากผู้ผลิตยังไม่ได้รับอนุมัติให้ขึ้นราคา บริษัทจะให้ความสำคัญกับการทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพราะสามารถปรับราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และลดโอทีในการผลิตสินค้าบางรายการที่ประสบภาวะขาดทุน เพราะหากขายมากจะยิ่งขาดทุนมากขึ้น

 

ต้นทุนวัตถุดิบ เป็นเด้งแรกที่กระทบต้นทุน มาเจอราคาน้ำมันเป็นเด้งที่ 2 อนาคต อาจเจอเด้งที่ 3 คือ ต้นทุนค่าแรงเพิ่ม สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ขาดทุน จึงต้องขออนุมัติให้ขึ้นราคาสินค้า

 

 

ด้านกรรมการ บริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่ฯ "ซื่อสัตย์" ปริญญา สิทธิดำรง ระบุ ที่ผ่านมาราคาขายบะหมี่ฯ ชนเพดานแล้ว หากไปเดินในห้างค้าปลีกจะพบว่า ราคาขายต่อแพ็คอยู่ที่ 55 บาท 58 บาทบ้าง เมื่อต้นทุนสูงขึ้น ผู้ผลิตก็ไปลดส่วนลดกับร้านค้า ทำให้ค้าขายแทบไม่มีกำไร จึงอยากให้กรมการค้าภายในพิจารณาเรื่องราคาเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้

logoline