10 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) โดยมีวาระการพิจารณาประเด็นการควบรวมธุรกิจ ระหว่างบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ในระเบียบวาระที่ 5 เรื่องเพื่อพิจารณา กำหนดเวลาและวิธีการลงมติการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค โดยมีข้อเสนอเพื่อพิจารณากำหนดเวลา และวิธีการลงมติการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ซึ่งเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 คณะกรรมการฯ มีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปดำเนินการรวบรมและวิเคราะห์ข้อมูลที่มีหลักฐานทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์เพิ่มเติม
เนื่องจากข้อมูลที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอมายังไม่ครบถ้วนและรอบด้านเพียงพอ ยังขาดข้อมูลสำคัญในหลายประเด็นเพื่อประกอบการพิจารณาผลกระทบในด้านต่างๆ และเพื่อนำไปสู่มาตรการในการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเป็นการป้องกันผลกระทบ และความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตลาดและอุตสาหกรรมตลอดจนประชาชนผู้ใช้บริการ
สำหรับเรื่องหารือกันในวันนี้ คือ กรอบเวลาการพิจารณา โดยปัจจุบัน กสทช.ยังไม่ได้พิจารณากำหนดเวลา และวิธีการลงมติการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคที่ชัดเจน ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 แจ้งผลพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ซึ่งมีความเห็นว่าประเด็นที่สำนักงาน กสทช. หารือ เป็นกรณีที่อยู่ในความสนใจสาธารณะและเป็นกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กสทช.โดยเฉพาะ
รวมทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ที่เป็นเครื่องมือของ กสทช. ในการพิจารณาดำเนินการมีการฟ้องร้องเพิกถอนอยู่ในศาลปกครอง ซึ่งกรรมการกฤษฎีกาจะไม่พิจารณาให้ความเห็น รวมถึง ความไม่ชัดเจนว่า การรายงานของทรูและดีแทคถือเป็นการดำเนินตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ฉบับลงราชกิจจานุเบกษา 19 มกราคม 2561 และถือว่าได้รับอนุญาตแล้วหรือไม่ ตามข้อ 6 ของประกาศฯ ฉบับดังกล่าว อาจส่งผลให้ กสทช. ไม่อาจอธิบาย และไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล ด้วยเหตุที่ ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศของ กสทช.
แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช.ระบุว่า การประชุมวันนี้ เนื่องจากมีกรรมการ กสทช.บางท่าน ต้องการทราบกรอบเวลาในการดำเนินการเรื่องนี้ให้แน่ชัดว่า จะต้องให้แล้วเสร็จภายในเมื่อไรอย่างไร และกระบวนการทำงานของสำนักงาน กสทช.ที่ต้องรวบรวมผลสรุป การรวมธุรกิจจากอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ที่ได้สั่งให้ไปแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหารายละเอียดนั้น จะครบถ้วนเมื่อใด และหากกรรมการ กสทช.บางคนเห็นว่า ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอต่อการลงมติอีก จำเป็นต้องมีการสั่งให้ไปเพิ่มเติมเนื้อหาตรงส่วนใดอีกบ้าง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังต้องมีการหารือในประเด็นวาระข้อที่ 3.2 ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) โดยเห็นว่า ประเด็นที่สำนักงาน กสทช. ขอหารือ เกี่ยวกับอำนาจของ กสทช.ในการพิจารณาการขอรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค เป็นกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กสทช. โดยเฉพาะ
รวมทั้ง ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ที่เป็นเครื่องมือของ กสทช. ในการพิจารณาดำเนินการ อีกทั้งยังมีการฟ้องร้องเพิกถอนอยู่ในศาลปกครอง ซึ่งกรรมการกฤษฎีกาจะไม่พิจารณาให้ความเห็น โดยหนังสือที่ตอบกลับมานี้ ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า กสทช.มีอำนาจในการพิจารณาการขอควบรวมธุรกิจว่าจะพิจารณาว่าจะให้เอกชนควบรวมหรือไม่
นอกจากนี้ในประเด็นการขอควบรวมนั้น แหล่งข่าวจาก กสทช. ชี้แจงว่า หากในท้ายที่สุดมีการอนุญาตให้ควบรวมกิจการ บอร์ด กสทช.จำเป็นต้องเขียนมาตรการเฉพาะ เพื่อกำหนดเป็นเงื่อนไขในการควบรวมกิจการ ซึ่งบอร์ดมีความกังวลในแง่ของการพิจารณา เพราะไม่อยากตกเป็นจำเลยสังคมในประเด็นที่เอื้อเอกชน
ดังนั้น การกำหนดมาตรการเฉพาะ จำเป็นต้องใช้ยาแรง ซึ่งหากพิจารณาจากกรณีศึกษาในต่างประเทศ ก็มีทั้งหากอนุญาตให้ควบรวม ก็จำเป็นต้องให้เอกชนที่ขอควบรวมขายคืนคลื่นความถี่ออกมา 50-100 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อจำกัดขนาดของบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากการควบรวม ไม่ให้มีขนาดที่ใหญ่เกินไป หรืออาจกำหนดให้ควบรวมธุรกิจเฉพาะบริษัทแม่ส่วนบริษัทลูกห้ามดำเนินการเด็ดขาด
อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการยกร่างฯ มาตรการเฉพาะดังกล่าวนี้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว คืออำนาจของบอร์ด แต่บอร์ดอาจจะสั่งให้สำนักงาน กสทช.หรือว่าจ้างที่ปรึกษาภายนอกเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งการกำหนดมาตรการเฉพาะค่อนข้างเป็นเรื่องที่ยาก เพราะหากมีการกำหนดให้เอกชนขายคืนคลื่นความถี่มา ประเด็นอยู่ที่ว่าแล้วใครจะเป็นผู้มาประมูลเพราะในประเทศไทย ก็มีผู้เล่นในตลาดเพียง 3 ราย ซึ่งก็เหลือเพียง เอไอเอส แต่เอไอเอสไม่มีสิทธิที่จะเข้าประมูลได้อยู่แล้ว หรือถ้าหากกสทช.พิจารณาเก็บคลื่นไว้ ก็จะเป็นการใช้ทรัพยากรไม่เกิดประสิทธิภาพ ดังนั้น ในประเด็นนี้จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบให้มากที่สุด
ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้โพสต์ข้อความว่า วันนี้ (10 สิงหาคม 2565) เวลา 10.00 น. กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร จะไปยื่นหนังสือให้กับสถานทูตนอร์เวย์ เกี่ยวกับประเด็นการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู – ดีแทค จึงอยากเชิญชวนผู้บริโภคที่สนใจ ไปร่วมกันแสดงพลังส่งเสียงไปให้ถึงบริษัทแม่ของดีแทค ว่าเราไม่เห็นด้วยกันการควบรวมในครั้งนี้ แล้วเจอกันที่ สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย 591 ตึก UBCII ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ
ที่มาข้อมูล กรุงเทพธุรกิจออนไลน์